นิสิต MBA ศศินทร์ ลงพื้นที่ชุมชนบางลำภูล่าง เรียนรู้นวัตกรรมทางสังคมในการสร้างชุมชนสร้างสรรค์ สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยใช้ต้นทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่

78

มิติหุ้น  –  การเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศิินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เพียงแค่สอนความสำคัญของพื้นฐานทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังเน้นที่ความเกี่ยวข้องและแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณของผู้ประกอบการด้วยความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ปัจจุบันการเรียนการสอนแบบให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงเป็นสิ่งสำคัญและช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์จริงจากการเริ่มธุรกิจในการแก้ปัญหาจริง ซึ่ง Sasin School of Management (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เน้นให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนแบบ Action Learning ที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การระดมสมอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการทำกรณีศึกษา นอกจากนี้ศศินทร์ยังให้ความสำคัญกับ SDGs – Sustainable Development Goals–SDGs คือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจท่องเที่ยว ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในบริเวณนั้นให้เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแต่วิถีชุมชนต้องไม่มีผลกระทบ

เช่นเดียวกับการเรียนการสอนของ ผศ.ดร. ยุพิน ภัทรพงศ์สันต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ซึ่งได้นำบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับวิชาการจัดการเรื่องราคามาประยุกต์เข้ากับเนื้องานโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ปีที่ 2  ซึ่งเป็นการนำทั้งการเรียนการสอนแบบ Action Learning และ SDGs  มาใช้ในการเรียนการสอนด้วย โดยนำทีมงานมหาวิทยาลัยสู่ตำบลและนิสิต MBA ศศินทร์ ร่วมทำกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้าง Social Innovation หรือนวัตกรรมทางสังคม ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต้นแบบ โดยการลงพื้นที่ในชุมชนวัดเศวตฉัตรและชุมชนหลวงพ่อโบสถ์บน แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยา ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนดังกล่าวนี้ ยังคงสืบทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดง กระตั้วแทงเสือ ที่สืบทอดกันมาแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้วิถีชุมชนที่ว่านี้ยังคงสืบสานประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งมีความแตกต่างจากฝั่งพระนคร รวมทั้งอาหารการกินที่สืบทอดมาแต่โบราณ เช่น ช่อม่วง ขนมจีบไทย ข้าวตังหน้าตั้ง หมี่กรอบ ข้าวตอกตั้ง ส้มฉุน ขนมเบื้องโบราณ ตลาดนัดในชุมชน สิ่งเหล่านี้หากมีการรักษาไว้เป็นมรดกตกทอดอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้การลงพื้นที่ชุมชนของนิสิต MBA ศศินทร์ เกิดการเรียนรู้ เปิดประสบการณ์ ให้เห็นถึงความสำคัญ และคุณค่าของฐานรากดั้งเดิมของชุมชนโบราณของไทย ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับมุมมอง วิสัยทัศน์ ในการเป็นนักธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการที่มีอยู่แล้ว และยังสร้างจุดที่เป็นข้อแตกต่างให้สามารถทำการตลาดต่อไปได้ เชื่อมโยงกับสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ดั้งเดิม ก่อนจะลงพื้นที่ในชุมชนนิสิตได้เรียนเนื้อหาทฤษฎีทางวิชาการ โดยอาจารย์มุ่งหวังว่านิสิตจะนำเนื้อหาที่เรียนมาปรับใช้กับสิ่งที่เห็นจากการลงพื้นที่จริง สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป โดยนำความรู้ที่เรียนมาผสมผสานต้นทุนทางวัฒนธรรมประเพณีที่มีอยู่ในพื้นที่ในการสร้างสินค้า บริการ ที่สามารถสร้างรายได้ในชุมชน เติบโต โดยอัตลักษณ์ของชุมชนไม่ถูกทำลายไปตามการเติบโตของสังคมเมือง

ทั้งนี้เมื่อนิสิตลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลของชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้นำเสนอหัวข้อและเนื้อหากับอาจารย์ผู้สอน เกี่ยวกับการสร้างรายได้ทางการตลาดกับสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้กับแนวทางการตลาดของชุมชนต่อไป

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp