มิติหุ้น – ฉมา แอ็สเซ็ท เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง จากสมุนไพรไทยออร์แกนิค ภายใต้แบรนด์ “ฉมา” เผยสมุนไพรไทยมีโอกาสเติบโตได้อย่างยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ สัญญาณดีรัฐบาลเดินเครื่องสนับสนุน เผย 3 ความท้าทายที่ผู้ประกอบการธุรกิจสมุนไพรไทยต้องรู้ เพื่อพลิกเกมสร้างโอกาสปั้นแบรนด์ให้มีความยั่งยืน คือ 1. มาตรฐานการผลิต 2. การขออนุญาต และ 3. ความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับยาสมุนไพร ชี้การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอางจากสมุนไพร ต้องควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือรู้แหล่งที่มาของสมุนไพร เน้นคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากลของวัตถุดิบ สามารถสืบย้อนกลับได้ เสริมด้วยองค์ความรู้จากเภสัชแผนไทยที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และสนับสนุนด้วยงานวิจัยจากบุคลากรทรงคุณวุฒิภายในประเทศพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ด้านผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลหรือปรึกษาแพทย์แผนไทยเพื่อการใช้สมุนไพรที่ถูกต้องและได้ประโยชน์สูงสุด มั่นใจสมุนไพรไทยมีโอกาสก้าวเป็นผู้นำในตลาดโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นางสาวปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา แอ็สเซ็ท จำกัด และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้าตรา “เกษตร” ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตร หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า สมุนไพรไทยยังมีโอกาสและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดประเทศไทยและตลาดโลก เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการใช้สมุนไพรเป็นหนึ่งในตัวเลือกเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งในเชิงป้องกัน และเชิงการรักษา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติ สมุนไพรออแกนิค ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านมา ทำให้สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั่วโลกจากการนำฟ้าทะลายโจรมาเป็นหนึ่งใน ทางเลือกของการดูแล ประกอบกับปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายพร้อมผลักดันสมุนไพรไทยสู่สมุนไพรโลก โดยมีเป้าหมายยกระดับการแข่งขันของสมุนไพรตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรและยา เพื่อการดูแลปัญหาสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่ต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยสมุนไพร พัฒนาคุณภาพโรงงานผลิต สู่มาตรฐาน Good Manufacturing Practice หรือ GMP เพื่อเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ไทยเป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพร และให้ตลาดสมุนไพรไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด
อย่างไรก็ดีจากการทุ่มเทปลูกและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรมานานกว่า 10 ปีฉมา แอ็สเซ็ท พบว่าผู้ประกอบการธุรกิจสมุนไพรไทยต้องเผชิญกับ 3 ความท้าทาย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง จากสมุนไพรไทย เพื่อขับเคลื่อนสู่ธุรกิจ ประกอบด้วย
1. มาตรฐานการผลิต นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่มีผลกับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ซึ่งแบรนด์สมุนไพรจะต้องผ่านการรับรอง FMP หรือ Fundamental Manufacturing Practice สำหรับในประเทศ ก่อนจะไปสู่ขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐาน GMP หรือ Good Manufacturing Practice สำหรับอาเซียน และมาตรฐานการผลิตอื่น ๆ
2. การขออนุญาต ในส่วนนี้มีกระบวนการและขั้นตอนที่ใช้เวลา ตั้งแต่การยื่นเอกสารขอผลิตยาตัวอย่าง หรือ ยบ.8 การรับเอกสารขอผลิตยาตัวอย่าง การผลิตยาตัวอย่างเพื่อส่งยาตรวจวิเคราะห์เชื้อตามประกาศ อย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การส่งเอกสารคำขอขึ้นทะเบียน (ทบ.1) พร้อมผลตรวจเชื้อ และตัวอย่างยา เข้ากองผลิตภัณฑ์สมุนไพร การแก้ไขเอกสารที่มีข้อบกพร่องตามคำแนะนำจากที่เจ้าหน้าที่ การส่งประเมินวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนที่จะได้รับใบสำคัญ (ทบ. 2) และการขออนุญาตใบอนุญาตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ เช่น ฆอ. เพื่อการขออนุญาตโฆษณา และอื่น ๆ ทั้งนี้ หากสามารถเปิดให้มีการลงทุนพัฒนานวัตกรรมการผลิตสมุนไพรไทย จะส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับสังคมและประเทศเป็นอย่างมาก
3. ความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับยาสมุนไพร แม้สมุนไพรจะใช้ได้ผลและมีการบรรเทา ดูแล รักษา ในประเทศไทยมารุ่นต่อรุ่นสืบทอดต่อเนื่องกันมาร้อยหลายปี แต่ปัจจุบันยังต้องการเอกสารงานวิจัยรองรับที่ชัดเจน ส่งผลให้สร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สมุนไพรไทยสำหรับผู้บริโภค ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีกรมการแพทย์แผนไทยเป็นหน่วยงานกลางในรวบรวมตำรับยาสมุนไพรไทยหน่วยงานหลักที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาวิจัย จัดระบบความรู้ พัฒนาแหล่งผลิตและผลิตภัณฑ์สมุนไพร คุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อนําไปใช้ในระบบบริการสุขภาพ อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ
นางสาวปรินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ ด้วยการดำเนินการได้จนครบ แม้จะใช้เวลา แต่ก็จะเป็นการสร้างโอกาส สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอางจากสมุนไพรให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน หัวใจสำคัญคือการควบคุมคุณภาพตั้งแต่วัตถุดิบ รู้แหล่งที่มาของสมุนไพร เพื่อคุณภาพตามมาตรฐานสากลของวัตถุดิบ ใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งมีช่องทางจำหน่ายเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพถึงมือผู้บริโภค ขณะที่ผู้บริโภคควรศึกษาประโยชน์และสรรพคุณของสมุนไพร รวมทั้งรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทย เพื่อการใช้สมุนไพรที่ถูกต้องและได้ประโยชน์สูงสุด
“สำหรับ ‘ฉมา’ มีแรงบันดาลใจในการเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง จากแบรนด์สมุนไพรไทยชื่อดังอย่าง ‘อภัยภูเบศร’ ผู้บุกเบิกและสร้างมาตราฐานยาสมุนไพรไทยตามมาตราฐาน PICS เพื่อทดแทนการใช้ยานำเข้าจากต่างประเทศ สามารถพึ่งพิงตนเอง และลดการเสียเงินตราในประเทศ รวมถึง ‘มูลนิธิอภัยภูเบศ’ ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรกับกลุ่มชาวบ้านเพื่อการสร้างงาน และเป็นการสร้างวิถีชุมชนอย่างยั่งยืนตลอดมา โดย ‘ฉมา’ มุ่งมั่นจะเป็น 1 ในแบรนด์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยออร์แกนิคจากธรรมชาติ ที่เข้ามาช่วยกันยกระดับตลาดสมุนไพรไทยให้เติบโต เพิ่มทางเลือกใหม่เพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพองค์รวมให้ผู้บริโภค ด้วยการนำจุดแข็งของ ‘ฉมาฟาร์มออร์แกนิค’ มาตรฐานสากลกว่า 100 ไร่ ที่เน้นควบคุมคุณภาพวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการปลูกพืชผักสมุนไพรตามมาตรฐานออร์แกนิคสากล เพื่อวัตถุดิบสมุนไพรที่ดีสำหรับการผลิตภัณฑ์อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง มีการทำงานร่วมกับแพทย์แผนไทยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน FMP รวมทั้งจะยื่นตรวจมาตรฐาน GMP ภายในปี 2565“ นางสาวปรินดากล่าวทิ้งท้าย
@mitihoonwealth