มิติหุ้น – ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เปิดเผยว่า ขณะนี้ CEA ได้เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative City & Creative District Development) ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN) โดยการขยายผลจากความสำเร็จใน 5 ย่านเศรษฐฏิจสร้างสรรค์ต้นแบบ ได้แก่ ย่านเจริญกรุง กทม., ย่านช้างม่อย จ.เชียงใหม่, ย่านศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น, ย่านเมืองเก่า จ.สงขลา และ ย่านเจริญเมือง จ.แพร่ สู่พื้นที่เป้าหมาย 33 ย่านตามโรดแมปแผนระยะ 3 ปี (ปี2563-2565) ที่จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง สร้างรายได้ และพัฒนา Soft Power ซึ่งนำมาสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
‘เมืองสร้างสรรค์’ (Creative City) ตามนิยามของยูเนสโก จะต้องมาจากการเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์ในท้องถิ่น ไปจนถึงนวัตกรรมที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่และผู้มาเยือน ซึ่งจุดเริ่มต้นไปสู่ ‘เมืองสร้างสรรค์’ จะต้องเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่าง ‘ย่าน’ เมื่อย่านดี เมืองก็จะเกิดการขยายตัวและดีตามไปด้วย และหากมีการส่งเสริมครบ 5 ยุทธศาสตร์ ก็จะเป็น ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ’ โดยโมเดลการพัฒนาพื้นที่เริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการ TCDN เราจึงได้ต่อยอดจาก 5 ย่านต้นแบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการดึงอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มาสร้างเป็นจุดขายในพื้นที่อื่น ๆ ตามมา” ดร. ชาคริตกล่าว
ด้าน คุณมนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า โมเดล 5 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบได้รับการพัฒนาครบในทุกมิติ ทั้ง 5 ด้านได้แก่ 1. ด้านความรู้ (Knowledge )
2. ด้านทักษะ (Skills ) โดยทั้งสองด้านนี้จะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่น ผ่านการอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้โดยมีผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มาร่วมพัฒนา 3. ด้านการประชาสัมพันธ์ (Communication) 4. การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ (Activities ) ซึ่งจะจัดขึ้นตามเทศกาลต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ที่กำหนด โดยอิงกับเรื่องราวและอัตลักษณ์ของย่านและจังหวัด มานำเสนอผ่านช่องทางต่าง ๆ และ 5.ด้านกลยุทธ์และแนวทางพัฒนา (Development Model ) เป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาและการต่อยอด จากจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่การทำกิจกรรมต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งจะมีการวัดผลผ่านกระบวนการของ TCDN ที่มีสำนักงานกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนายกระดับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
“ขณะนี้พื้นที่ที่คัดเลือกมาพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีทั้งหมด 33 ย่าน การพัฒนาใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี โดยการพัฒนาจะยึดโมเดล 5 พื้นที่ดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ” คุณมณฑิณีกล่าว
ทั้งนี้ตัวอย่าง ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดที่สุด เช่น โครงการ “ถนนคนเดินเจริญกรุง” ที่มุ่งพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยการให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะและทางเท้าควบคู่กันไป มีการออกแบบทางเดิน ทางข้ามให้มีความโดดเด่นและทันสมัย เพื่อสร้างความปลอดภัยในการข้ามถนน จากกลุ่มนักออกแบบหลายสาขาที่มีความคิดสร้างสรรค์มาร่วมกันพัฒนา ขณะเดียวกันยังมีโครงการอีกหลายอย่าง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ของชุมชน ศาลาที่พักผู้โดยสารประจำทางตลาดน้อย การแปลงโฉมร้านค้า และ พื้นที่ในชุมชน ฯลฯ และการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่าเกิดกระแสการลงทุนใหม่ในพื้นที่ ก่อให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์ ถึง 20 แห่งในย่านเจริญกรุง ในปี 2021 จากเดิมที่ซบเซาและปิดตัวลงไปหลายแห่ง ถือเป็นความสำเร็จที่สามารถช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในย่านนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
สำหรับจังหวัดขอนแก่น CEA ได้ปักหมุดที่ย่านศรีจันทร์ ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่า เเละย่านธุรกิจที่สำคัญรวมถึงเป็นพื้นที่จัดงานใหญ่ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival) ประจำปี จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างสรรค์ศรีจันทร์ (CO – CREATE SRICHAN) ซึ่งเป็นโครงการที่มีความร่วมมือหลายองค์กร ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนเเก่น ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ขอนแก่น ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) บริษัท ขอนเเก่นพัฒนาเมือง จำกัด มหาวิทยาลัยขอนเเก่น และ เครือข่ายศรีจันทร์คลับ กลุ่มคนรักศรีจันทร์ เพื่อพัฒนาย่านศรีจันทร์ให้เป็นย่านสร้างสรรค์ต้นเเบบของ จังหวัดขอนเเก่น ที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน ที่นำมาสู่การสร้างเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิต ผ่านการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้น โดยการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในย่านศรีจันทร์โดยได้รับการสนับสนุน จากทั้งภาครัฐเเละภาคเอกชน
จังหวัดสงขลา พื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สำหรับพื้นที่นำร่องในการพัฒนาให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ ได้แก่ ย่านเมืองเก่าสงขลา และเป็นที่ตั้งของ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สงขลา ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ที่จะจัดตั้งแล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งจะเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทั้งยังส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกิจกรรมนำร่องต่าง ๆ เช่น กิจกรรมครอบครัวเมืองเก่าสงขลา ปี 2563 (PORTRAIT OF SONGKHLA) นิทรรศการเรื่องเล่าย่านเมืองเก่าสงขลาผ่านภาพถ่ายชาวสงขลา เป็นแนวคิดการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน กลุ่มวิชาชีพสร้างสรรค์ และ ภาคการศึกษา ระหว่างสงขลา-หาดใหญ่ และ กรุงเทพฯ โดยถ่ายทอดกระบวนการต่อยอดสินทรัพย์และเผยแพร่อัตลักษณ์วัฒนธรรมในพื้นที่สู่การกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ โดยตลอดระยะเวลาการจัดงาน (11 – 27 ก.ย. 2563) เกิดความร่วมมือของชาวสงขลา กว่า 200 คน เกิดการสร้างเครือข่ายนักสร้างสรรค์กว่า 51 คน และร้านค้าท้องถิ่นในย่านยอดขายเพิ่มขึ้น 20 – 30% พร้อมต่อยอดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่พื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดและผลักดันให้จังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาคใต้
ขณะที่ย่านเมืองเก่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ และงานประเพณีที่แสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมทั้งมีชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการธุรกิจ นักออกแบบ และช่างฝีมือเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการต่อยอดด้วยการพัฒนาให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ ในย่านช้างม่อย จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการนำร่องต่าง ๆ เช่น โครงการเมด อิน ช้างม่อย (Made in Chang Moi) ที่สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจในย่าน ด้วยการจับคู่ทำงานร่วมกับนักออแบบรุ่นใหม่ ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์การตลาดมากยึ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนนึงของการจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chaing Mai Design Week)
@mitihoonwealth