วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน

115

ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี

– ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่อง จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับที่ 114.527 สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีความน่าดึงดูดน้อยลง สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น

– ตลาดยังคงกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวถึงปัญหาด้านเงินเฟ้อของยุโรปส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวนอย่างมาก จากผลกระทบของสงครามรัสเซียยูเครน โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. 65 ของยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับที่ 9.6% y-o-y ส่งผลให้ ECB มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง

+/- สมาชิกของ EU กำลังพิจารณายื่นข้อเสนอมาตรการตรึงราคาแก๊สของรัสเซีย (price cap) ในการประชุมด้านพลังงานของกลุ่ม EU ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 ก.ย. 65 นี้ ขณะที่ยังมีบางประเทศสมาชิกไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เนื่องจากอาจส่งผลให้อุปทานมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น จากการที่รัสเซียอาจตอบโต้โดยการหยุดส่งออกแก๊สไปยังยุโรป

ราคาน้ำมันเบนซิน – ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในอินเดียที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนช่วงเทศกาลดีวาลี (Diwali) อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์อุปทานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มโควตาการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป

ราคาน้ำมันดีเซล – ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดกังวลอุปทานจากจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลอนุมัติโควตาการส่งออก อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในยุโรปมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาแก๊สที่ปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานที่ตึงตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาใช้น้ำมันแทนแก๊สมากขึ้น

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp