EIC คาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สู่ 1.25% ในปีนี้ และ 2% ในปีหน้า

95

มิติหุ้น – กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย โดยแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการจึงเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการพร้อมจะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 3.3% และ 3.8% ในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ

ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ และในมิติรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอลงกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่กระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

กนง. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2022 และ 2023 จะอยู่ที่ 6.3% และ 2.6% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2022 และ 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ โดยสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยจะต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น หากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน

กนง. ประเมินว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพและภาวะการเงินยังผ่อนคลาย

แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทยอยปรับสูงขึ้น แต่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน ขณะที่ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทไม่ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ ส่งผลให้คณะกรรมการเห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

IMPLICATIONS

EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2022 และ 2% ณ สิ้นปี 2023 คาดว่า กนง. มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป แม้จะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงบ้างตามปัจจัยด้านอุปทาน เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะลดลงตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ช่วยให้เงินเฟ้อทยอยปรับลดลงอย่างช้า ๆ แต่จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้า เนื่องจากราคาพลังงานในประเทศและราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังราคาสินค้ากลุ่มอื่นที่จะมีมากขึ้น  โดย EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2022 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 1.25% สำหรับในปี 2023 EIC คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% และทรงตัวที่ระดับ 2% ณ สิ้นปีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2023 (รูปที่ 1) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ต่ำกว่าระดัศักยภาพไปอีก 1-2 ปี จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกและหนี้ที่สูงขึ้น

EIC มองว่า กนง. ไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เนื่องจากวัฏจักรเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อเงินเฟ้อยังไม่มากเท่ากลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนหน้าแล้ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีรอยแผลเป็นจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ลึกกว่ากระทบหนี้ครัวเรือนไทยและรายได้ของภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง เช่น ภาคบริการ และภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ด้วยเหตุนี้ แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มเปราะบางสามารถปรับตัวได้ และลดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ในระยะต่อไปที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วง COVID-19 (เช่น การผ่อนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้เสีย) จะสิ้นสุดลง

นอกจากนี้ EIC มองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มาก แม้จะช่วยลดแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้างในระยะสั้น แต่จะไม่สามารถทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าสวนทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐได้ นอกจากนี้
เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากยังไม่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินไทยอย่างมีนัย โดยเสถียรภาพตลาดการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี (อาทิ เงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้ไหลออกมาก ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับลดลงมาก) การส่งผ่านผลกระทบค่าเงินบาทอ่อนสู่เงินเฟ้อไทยก็ยังมีจำกัด ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อช่วยลดแรงกดดันการอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่คุ้มกับความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าอย่างมากในเดือนนี้ โดย EIC คาดว่า ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า เงินบาทจะยังผันผวนในกรอบ 37.5-38.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้การอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค (รูปที่ 2) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นถึง 5% ในเดือนกันยายน เนื่องจาก

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องตลอดปีนี้และปีหน้า
    โดยจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Medain dot plot) ของคณะกรรมการ FOMC ล่าสุดที่สะท้อนว่า Fed funds rate จะอยู่ที่ 4% ณ สิ้นปี 2022 และ 4.6% ณ สิ้นปี 2023 ตามลำดับ โดย Fed ได้สื่อสารชัดเจนถึงความมุ่งมั่นที่จะดูแลให้เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% แม้จะส่งผลให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานชะลอตัวมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์ Terminal rate สู่ 4.6% (จากระดับก่อนประชุม FOMC ที่ 4.3%) ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งระยะสั้นและระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่าสิบปี ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นสู่ 114 (จากก่อนประชุม FOMC ที่ 110)

EIC คาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 75 bps ในเดือนพฤศจิกายน และ 50 bps ในเดือนธันวาคม ส่งผลให้ Fed funds rate ณ สิ้นปีนี้อยู่ที่ 4.25-4.5% (รูปที่ 3) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายของ Fed ที่ 2% อยู่มาก โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังเร่งตัวต่อเนื่องและกระจายไปในหลายหมวดสินค้าและบริการ ประกอบกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง สำหรับปี 2023 EIC คาดว่า Fed funds rate จะขึ้นไปสู่ระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ upper bound 4.75% ในไตรมาส 1 และ Fed
มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยระดับนี้ตลอดปี

  1. เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้น (Global recession risk) ส่งผลให้
    ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์สหรัฐมีมากขึ้น
  2. ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง และส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ส่งผลให้เงินเยนปรับอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ
  3. ความกังวลต่อนโยบายการคลังของสหราชอาณาจักร ที่ประกาศ Tax cut plan เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัว และทำให้ Bank of England จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นอีก นอกจากนี้ ยังจะส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลังในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นเร็ว ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  4. เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง จากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ปัญหาหนี้สูง รวมถึงการเมืองในอิตาลี ซึ่งกดดันให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีและอิตาลีเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อปัญหา Fragmentation ในภูมิภาค กดดันให้เงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ดี EIC คาดว่า เงินบาทมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีนี้ และจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2023 จากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่แนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนี้

  1. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  2. ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มกลับมาเกินดุลได้ในช่วงปลายปีนี้ ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนค่าขนส่งที่เริ่มลดลง รวมถึงการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวไทย (รูปที่ 4)
  3. เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทย ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดย Valuation ของหุ้นไทยยังน่าดึงดูด และนักลงทุนต่างชาติยังถือครองหุ้นไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ปัจจุบัน 22%
    ต่ำกว่าช่วงสิบปีที่ผ่านมาที่ 30%).

 

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp