เจาะลึกโรคหัวใจ มัจจุราชภัยเงียบใกล้ตัว กับ “CHG”

181

มิติหุ้น  –  โรคหัวใจและหลอดเลือดถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยมีมากถึงร้อยละ 32 หรือประมาณ 17.9 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 7 หมื่นราย ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกับทุกวัย (อ้างอิงจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) แน่นอนว่า การรักษาที่ดีที่สุดคือการได้รับการรักษาอย่างตรงจุด ทันเวลา และรวดเร็วที่สุด โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CHG) เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงได้จัดตั้งศูนย์หัวใจและหลอดเลือดครบวงจรขึ้น เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในเขตจังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาในกรณีฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย โดยได้เปิดให้บริการมาแล้ว 10 ปี พร้อมทั้งได้ให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมาแล้วมากกว่า 40,000 ราย

ทั้งนี้โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CHG) ได้เข้าร่วมโครงการกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยทุกสิทธิ์การรักษาได้อย่างครอบคลุม ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติฉุกเฉินภายใต้การรับส่งต่อผู้ป่วยด้วยระบบ Fast Track เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CHG) ยังได้ร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยจัดตั้งศูนย์หัวใจและหลอดเลือดแบบครบวงจรในโรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง อาทิ ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลสิรินธร กรุงเทพมหานคร,  ศูนย์หัวใจโรงพยาบาล จังหวัดสมุทรปราการ และศูนย์หัวใจโรงพยาบาล จังหวัดระยอง ที่พร้อมให้การดูแลอย่างเต็มรูปแบบ ตลอด 24 ชั่วโมงและครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษา

นพ.สันติชัย กาลเนาวกุล ศัลยแพทย์ทรวงอกและหัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคหัวใจและระบบหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CHG) เปิดเผยว่า โรคหัวใจมีสาเหตุมาจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เมื่อเส้นเลือดตีบนั่นหมายความว่าเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ อาจส่งผลให้คนไข้ช็อก หากคนไข้ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ภายในระยะเวลา 90 นาทีก็อาจส่งผลให้เสียชีวิตในเวลาต่อมาได้

“ในปัจจุบันการรักษาโรคหัวใจจะมีสองประเภท ได้แก่ ประเภทแรก คือการขยายเส้นเลือดผ่านสายสวนหรือที่เรียกว่าการทำบอลลูน เป็นการขยายท่อที่ตีบและนำขดลวดไปค้ำยัน เป็นวิธีที่ทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ใช้เวลารวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง และประเภทที่สอง คือการผ่าตัดทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจ เป็นวิธีที่มีข้อจำกัด เพราะจำเป็นต้องต้องใช้เครื่องมือแพทย์เฉพาะทางที่ทันสมัย และเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยง มักใช้ในกรณีที่เส้นเลือดแข็งมากหรือหินปูนเกาะเยอะ จนไม่สามารถถ่างขยายได้”

นพ.สันติชัย กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีการตรวจพบโรคมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้แก่ กรรมพันธุ์และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในด้านกรรมพันธุ์มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ เช่น ปัญหาภาวะไขมันในเลือดสูง ที่ถ่ายทอดมาจากครอบครัว และปัจจัยการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ที่เป็นสาเหตุต้น ๆ ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะพ่วงมาด้วยโรคเส้นเลือดสมองและอัมพฤกษ์อัมพาตตามมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีคนไข้ที่เข้ารับการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีการผ่าตัดบายพาสเฉลี่ย 5 – 7% ต่อปี

“ด้วยศักยภาพและประสบการณ์ในการรักษา ความพร้อมของทีมแพทย์และบุคลากร เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและครบครัน โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CHG) ได้เข้าร่วมมือกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นผลให้สามารถดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และสิทธิข้าราชการ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการรักษา ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CHG) เป็นจุดศูนย์กลางของโรงพยาบาลในภาคตะวันออกที่รับผ่าตัดโรคหัวใจ เป็นศูนย์ส่งต่อการรักษาจากโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งยังเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีการผ่าตัดหัวใจในผู้ใหญ่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศอีกด้วย”

สำหรับการให้บริการของศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CHG) มีทั้งการผ่าตัดบายพาสและการทำบอลลูน แต่ส่วนใหญ่จะเน้นการรักษาแบบบอลลูนมากกว่า เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ใช้เวลาน้อย แผลผ่าตัดเล็กมาก และความเสี่ยงน้อยมาก ซึ่งเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ใช้รักษากับผู้ป่วย ตลอดจนจุดเด่นของเราคือการให้บริการที่รวดเร็ว มีการประสานงานกันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในเวลา หรือ นอกเวลา ครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษา โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือส่วนต่างใด ๆ ในด้านของความปลอดภัย ทางโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CHG) ให้ความสำคัญกับมาตรฐานของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างทันเวลา รวดเร็ว ปลอดภัย ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

สำหรับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค การตรวจโรคหัวใจส่วนใหญ่จะพบในอาการของผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น เส้นเลือดเกือบจะตันแล้ว สำหรับคนที่มีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจเช็คสุขภาพหัวใจ (Heart Check Up – กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด) เป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีความเสี่ยงควรควบคุมพฤติกรรมการทานอาหารอย่างเคร่งครัด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และหมั่นออกกำลังกาย หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก ร้าวไปยังบริเวณคอ กราม ไหล่   ใจสั่น หายใจถี่กว่าปกติ มีอาการอ่อนเพลียมากหรือเหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและลดความสี่ยงจากภาวะหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack)  หรือภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)        ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่ได้รับการทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสแล้วก็ควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน รวมไปถึงการตรวจเช็คเพื่อติดตามการรักษาในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ยังคงเดินหน้าให้ความร่วมมือและพร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการดูแลสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐานสอดรับกับนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม (Green Hospital & Zero Waste) ตามแนวทาง ESG เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ   มีศักยภาพในการแข่งขัน การสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และการเติบโตอย่างยั่งยืน

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp