นักวิชาการซีพีเอฟ แนะวิธีเลือกเนื้อหมูปลอดภัย ปลอดสารเร่งเนื้อแดง

43
มิติหุ้น  –  น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดังเช่น เนื้อสุกร ต้องสด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารเร่งเนื้อแดง โดยล่าสุด “เซ็นทรัลแล็บไทย” ได้ออกมาให้ข่าวเตือนภัยถึงอันตรายของสารเร่งเนื้อแดงจากเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าว่าอาจสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ซึ่งหากบริโภคเข้าไปผู้บริโภคจะได้รับสารอันตรายไปด้วย จึงขออธิบายเกี่ยวกับสารชนิดนี้ เพื่อเป็นความรู้และช่วยให้คนไทยทุกคนเลือกซื้อเนื้อหมูเพื่อการบริโภคได้อย่างมั่นใจ
“การใช้สารเร่งเนื้อแดงในประเทศไทยถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้บริโภคจึงวางใจได้ว่าการเลือกบริโภคเนื้อหมูไทยปลอดจากสารเร่งเนื้อแดง โดยเลือกจากร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” หากไม่พบสัญลักษณ์ดังกล่าว ขอให้สังเกตเบื้องต้น พิจารณาจากสีของเนื้อหมูต้องไม่มีสีแดงผิดปกติ เมื่อกดดูเนื้อจะนุ่มไม่กระด้าง หรือสังเกตตรงส่วนที่เป็นหมูสามชั้น หากพบว่ามีส่วนเนื้อมากผิดปกติควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน เนื่องจากหมูที่เลี้ยงแบบปกติจะมีสัดส่วนของมันหมู 1 ส่วน ต่อเนื้อแดง 2 ส่วน” น.สพ.ดำเนิน กล่าว
สำหรับ สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) อาทิ แรคโตพามีน (Ractopamine) มีคุณสมบัติในการเพิ่มน้ำหนักตัวของสัตว์ โดยสารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์เปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อ และลดการสะสมไขมันในเนื้อเยื่อ กระบวนการเลี้ยงหมูในอดีต นิยมใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อประโยชน์ในการลดไขมันและเพิ่มเนื้อแดงในตัวหมู โดยงานวิจัยพบว่าสารนี้ทำให้หมูกินอาหารน้อยลงแต่มีน้ำหนักตัวและปริมาณเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการใช้สารนี้ส่งผลเสียทั้งต่อตัวสัตว์และอาจตกค้างทำอันตรายถึงผู้บริโภคด้วย ต่อมาประเทศไทยจึงได้ออกกฏหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ขณะนี้ยังพบการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างกว้างขวางในบางประเทศแถบตะวันตก อาทิ สหรัฐอเมริกา ด้วยประเทศเหล่านั้น มองว่าสารเร่งเนื้อแดงช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ที่สำคัญคนในประเทศตะวันตกไม่บริโภคเครื่องในหมู ทำให้ประชากรไม่ต้องเสี่ยงรับสารตกค้าง จึงยังคงอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเสรี ซึ่งสารดังกล่าวไม่ได้ตกค้างเฉพาะในเครื่องในเท่านั้น แต่สามารถตกค้างในส่วนของกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัว
สำหรับประเทศไทย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มนี้ อย่างเช่น เนื้อหมูต้องตรวจไม่พบสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ทุกชนิด รวมถึง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ประกาศห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์มาตั้งแต่ พ.ศ.2525 และพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคหากได้รับสารนี้ที่ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ สะท้อนถึงความอันตรายของ “สารเร่งเนื้อแดง”
น.สพ.ดำเนิน กล่าวอีกว่า สารเร่งเนื้อแดงมีคุณสมบัติเสถียรต่อความร้อนทั้งน้ำเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส และน้ำมันที่ 260 องศาเซลเซียส การต้ม อบ ทอด หรือใช้ไมโครเวฟ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสารกลุ่มนี้ได้ ส่งผลให้สารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ สามารถส่งผลเสียไปถึงสุขภาพของผู้บริโภคได้โดยตรง มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อสั่น-กระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท ข้อมูลทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าหากร่างกายได้รับสารกลุ่มนี้เข้าไปในปริมาณสูงจะส่งผลต่อสุขภาพ และเป็นอันตรายมากโดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ลมชัก และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ขณะที่ในต่างประเทศมีรายงานการพบผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางร่างกายหลายครั้ง

“ซีพีเอฟในฐานะผู้ผลิตอาหารที่เน้นสุขภาพผู้บริโภคมาเป็นอันดับแรก ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยเป็นหลัก ขณะที่ผู้บริโภคเองควรใส่ใจในเรื่องสุขภาพ เลือกซื้อสินค้าที่มาจากแหล่งผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ และมีตรา ปศุสัตว์ OK ที่รับรองความปลอดภัยต่อการบริโภค” น.สพ.ดำเนิน กล่าวทิ้งท้าย

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp