วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน

97

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่ม หลังกลุ่มโอเปกพลัสมีมติปรับลดการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปี

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท๊กซัสและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1% หลังกลุ่มโอเปกพลัสได้มีมติปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการปรับลดอัตราการผลิตในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับลดที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานการณ์อุปทานตึงตัวในตลาด และอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อในที่สุด อย่างไรก็ดี ได้มีการคาดการณ์ว่าการลดอัตรากำลังการผลิตจริง อาจน้อยกว่าตัวเลขที่ตกลงกันในที่ประชุม โดยตลาดคาดการณ์ว่า กำลังการผลิตอาจปรับลดลงราว 1 – 1.1 ล้านบาร์เรลเท่านั้น และกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตลดลงนั้นจะมาจากซาอุดิอาระเบีย

+ โกลด์แมน แซคส์ ปรับตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้นจากการที่กลุ่มโอเปกพลัสประกาศลดกำลังการผลิต โดยปรับขึ้นที่ระดับ 104 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2565 และ 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐฯ และ มอร์แกน สแตนลีย์ ที่ได้มีการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเช่นกัน

– ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ แสดงความผิดหวังต่อแผนการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส และกล่าวว่าสหรัฐฯ กำลังมองหาวิธีป้องกันไม่ให้ราคาขึ้นสูงจนเกินไป และอยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับลดปริมาณน้ำมันคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ลง เพื่อแก้ไขปัญหาอุปทานตึงตัวที่อาจเกิดขึ้นหลังการลดกำลังการผลิต

ราคาน้ำมันเบนซิน – ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ แม้ว่าตัวเลขน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ จะปรับลดลงใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ในขณะที่อุปสงค์ในอินเดียยังปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังได้รับแรงสนับสนุนจากเทศกาลดุชเซห์รา

ราคาน้ำมันดีเซล – ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานในภูมิภาคที่ยังคงตึงตัวในช่วงการซ่อมบำรุง ประกอบกับอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นเพื่อรองรับการใช้ในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาดูการประกาศโควต้าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของจีนอย่างใกล้ชิด

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp