กรุงศรีจัดสัมมนาวิเคราะห์อนาคตธุรกิจภายใต้สถานการณ์โลกที่พลิกผัน พร้อมเผยทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง

73

มิติหุ้น – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ขับเคลื่อนกลยุทธ์เสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจแก่ลูกค้าธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดสัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Talk ในหัวข้อ Managing a Business in The VUCA World จับทิศทางอนาคตธุรกิจภายใต้สถานการณ์โลกที่พลิกผันและเปลี่ยนแปลงที่จัดขึ้นสำหรับลูกค้าธุรกิจของกรุงศรีโดยเฉพาะ

โอกาสนี้ นายโยชิยูกิ โฮริโอะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ดร. ดอน  นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย, นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) และ นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นวิทยากรพิเศษร่วมบรรยายเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลกและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และแนวโน้มดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของตลาดการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยประเด็นหลักที่เกิดขึ้นในงานสัมมนา ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายที่สำคัญ 4 ประการ ประการแรกคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 3 ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจทั้ง ยุโรป จีน และ สหรัฐฯ ที่มี GDP รวมกันคิดเป็น 2 ใน 3 ของโลกพร้อมใจกันชะลอตัว ประการที่สอง คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของหลายๆ ประเทศ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนและความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน ที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก ประการที่สาม คือ การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และประการสุดท้าย คือ แนวทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นแบบ K-Shaped Recovery ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจบางกลุ่ม “ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว” และบางกลุ่มที่ “ยังไม่ฟื้นตัวและแย่ลงเรื่อยๆ” ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจรอดพ้นวิกฤตได้ในระยะยาว ในอนาคตโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC จะเป็นคำตอบสำคัญ เพราะมีเครือข่าย 5G ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด EEC จึงเป็นที่สนใจของธุรกิจ Digital จากทั่วโลก ขณะเดียวกัน EEC ยังตอบโจทย์การลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า EV ด้วยการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ที่จะใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นพื้นที่ทดลองวิ่ง EV ด้วยการติดตั้งสถานีเติมไฟจำนวนมาก นอกจากนั้นภายในพื้นที่ยังจะมีศูนย์นวัตกรรมสำคัญ อาทิ EECi หรือ ศูนย์การศึกษาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเกษตร / ดิจิทัล / หุ่นยนต์ / โดรน / แบตเตอรี่ / EV, EECd หรือ DATA Center และ EECh หรือ Digital Hospital รวมไปถึงมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟฟ้าความเร็วสูง และสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

ด้าน นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) เปิดเผยมุมมองการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพยายามเชื่อมโยงการพัฒนาภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ GDP มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึงและมีความยั่งยืน ให้เป็นการเติบโตที่ทุกคนมีส่วนร่วม พร้อมเสริมว่าประเทศไทยมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น คาดการณ์การส่งออกอาหารทั้งปี 2565 จะมีมูลค่า 1.2-1.3 ล้านล้านบาท เท่ากับขยายตัว 8-12% ด้านนักลงทุนก็มีเข้ามามากขึ้น ทั้งจากยุโรปและรัสเซีย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัจจัยที่เอื้อต่อการตั้งฐานการลงทุนระยะยาว ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยมากขึ้น และยังมีโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การสร้างความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Security) ความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร โดยใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ประเภท แบ่งเป็น First S-curve อุตสาหกรรมที่จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ  อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ EV โดยในปี 2030 ตั้งเป้าจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 30% จากปริมาณยานยนต์ทั้งหมดของประเทศ, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ส่วนต่อมาคือ New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งจะเกิดมาจากการมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีการใช้หุ่นยนต์เหมือนคนที่มีสมองมีความจำและต่อไปจะสามารถขับรถยนต์เองได้, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะ e-commerce ต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วงโควิดได้ช่วยเปลี่ยนและเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ telemedicine มากขึ้นและในอนาคตอาจมีการรักษาด้วยหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ, อุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา ขณะเดียวกันแนวทางอุตสาหกรรมก็มีการปรับตัวมุ่งสู่ BCG Model โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Security) โดยนำพลังงานทดแทนเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรม และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการเรื่อง Smart Agriculture Industry หรือ เกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการนำเอาเกษตรสมัยใหม่มาปรับใช้ โดยการผสมผสาน สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง และ สมาร์ท อินดัสทรี เพื่อปลูกสิ่งที่โลกต้องการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างการเติบโตของประเทศไทยบนแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้ผลประโยชน์มากขึ้นและเพื่อให้ GDP ประเทศไทยเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

งานสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัมมนาออนไลน์เพื่อลูกค้าธุรกิจ หนึ่งในกิจกรรมจาก Krungsri Business Empowerment เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจของลูกค้าธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมสัมมนาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบ่งปันข้อมูลความรู้ให้ลูกค้าธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึกจากวิทยากรชั้นแนวหน้า มุ่งสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับลูกค้า ผู้สนใจสามารถรับชมสัมมนาออนไลน์ย้อนหลังผ่านช่องทาง Krungsri Business Empowerment Facebook และ Krungsri.com

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp