กลุ่มทิสโก้แจ้งผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2565 มีกำไรสุทธิ 5,415 ล้านบาท เติบโต 8.5%

87

มิติหุ้น  –  นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (MrSakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงหนุนของภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ภาพรวมตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวในทิศทางดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคการเกษตรและการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงมาตรการพยุงการบริโภคของภาครัฐ ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อการขยายตัวของกลุ่มทิสโก้อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 5,415 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2564  โดยสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมในธุรกิจนายหน้าประกันภัยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วย NPL ratio ที่ลดลงมาอยู่ที่ 2.1% และอัตราการตั้งสำรองทางเครดิตยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 248% เพียงพอต่อการรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต ในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนยังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับฐานที่สูงของปีก่อนหน้า รวมถึงการรับรู้ผลขาดทุนจากเงินลงทุน เนื่องจากผลกระทบของภาวะตลาดที่ผันผวน

“ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้จะทยอยเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว  อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อโดยรวมยังคงมีความเปราะบางจากระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และมีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน ที่กำลังเริ่มฟื้นตัวกลับมา ทั้งนี้ ธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้จะเข้าไปช่วยเติมสภาพคล่องในระบบการเงินให้แก่กลุ่มลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผ่านการขยายสาขาของสมหวัง เงินสั่งได้ ที่ตั้งเป้าการเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 450 สาขาภายในสิ้นปีนี้ จากเป้าหมายเดิมที่ 400 สาขา  

ทั้งนี้ เรายังคงดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในธุรกิจที่เราเห็นโอกาสและตอบโจทย์สังคม พร้อมยึดมั่นในนโยบายการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ที่รอบคอบและรัดกุม ผสมผสานกับการให้คำแนะนำที่ดีและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ลูกค้า รวมถึงช่วยเหลือดูแลลูกค้าในทุกกลุ่มไปพร้อมกัน” 

สรุปผลประกอบการสำหรับงวดไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 

ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% จากไตรมาส 3 ของปี 2564 เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อ ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า พร้อมกับธุรกิจนายหน้าประกันภัยขยายตัวถึง 44.3% สอดคล้องกับปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ที่เติบโต ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น 27.7% อีกทั้ง ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.2% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นไปตามการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนยังคงซบเซาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2564 ทั้งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 15.1% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนอ่อนตัวลง 0.9% จากการกองออกทุนใหม่ที่ลดลงในสภาวะตลาดทุนไม่เอื้ออำนวย 

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 กำไรสุทธิมีจำนวน 5,415 ล้านบาท ขยายตัว 8.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 จากเงินให้สินเชื่อที่เติบโต การขยายตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ 25.1% และค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง 79.2% บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 0.4% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง จากการชะลอตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนเป็นหลัก ประกอบกับการลดลงของกำไรจากเครื่องมือทางการเงิน ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 17.6% 

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีจำนวน 213,188 ล้านบาท เติบโต 5.0% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อ “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่เพิ่มขึ้น 14.8% จากสิ้นปีก่อนหน้า สอดคล้องกับการเปิดเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี ในส่วนของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงจากสิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ 2.1% ของสินเชื่อรวม เป็นไปตามนโยบายการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 248% 

ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 24.3% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 20.2% และ 4.2% ตามลำดับ

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp