“ธนาคารออมสิน อาสาแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน”

262

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงถึง 88% ต่อ GDP  พุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 53 อยู่ที่ 60%ของจีดีพี  และจากการติดตามข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือน 35% มาจากหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ บัตรเครดิต ไม่ใช่สินเชื่อธุรกิจ รวมถึง NPL จากสินเชื่อที่อยู่อาศัย

 

อีกทั้งวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำให้เศรษฐกิจประเทศถดถอย ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงทำให้ไม่มีรายได้และหันมาพึ่งหนี้นอกระบบมากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องปัญหาปากท้องของประชาชนโดยตรง และได้มอบหมายให้ธปท. กระทรวงการคลังออกมาตรการช่วยเหลือ

 

กรณีธนาคารออมสินคลอดโครงการ “บ. มีที่ มีเงิน” และรุกธุรกิจ Non-Bank นับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงแหล่งเงินลงทุน และลดปัญหาหนี้ครัวเรือน ในฐานะที่เป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมักจะถูกใช้ให้เป็นแขนขาสำคัญในการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

 

ผนึก TIPH – BCP จัดตั้ง  “บ. มีที่ มีเงิน” 

ธนาคารออมสิน เป็นตัวตั้งตัวตี จัดตั้ง “บ. มีที่ มีเงิน” ถือหุ้นใหญ่สัดส่วนหุ้น 49% และชักชวนให้ TIPH หรือบมจ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เข้าร่วมโครงการ  ถือหุ้น 31% และ BCP หรือ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 20%  ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ลบ. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนทั่วไปให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนถูกลง

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงพัฒนาระบบการดำเนินงาน และการบริการในทุกด้าน ให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อรักษาฐานลูกค้ามากกว่า 26 ล้านบัญชี ธนาคารออมสินจึงมั่นใจว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะสามารถต่อยอดและให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาของสังคมได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

 

สำหรับสินเชื่อดังกล่าว มีวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 2.1 หมื่นลบ. จะเปิดรับจำนองที่ดิน และขายฝาก รีไฟแนนซ์ ให้กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดา ในวงเงินกู้ 300,000 บาท – 10 ล้านบาท และนิติบุคคล วงเงินกู้ตั้งแต่ 300,000 บาท –  50 ล้านบาท ให้วงเงินกู้สูงสุด 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ คิดอัตราดอกเบี้ย 6.99-8.99% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี โดยให้ปลอดชำระเงินต้นนาน 1 ปี ที่สำคัญคือ ไม่ตรวจเครดิตบูโร ไม่ตรวจสอบรายได้ และไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกันเงินกู้ ผ่านระบบการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอปฯ “MyMo” ไม่ต้องเข้าธนาคาร ซึ่งจะเริ่มทดสอบในพื้นที่ 5 จังหวัดกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบในพื้นที่ดังกล่าวช่วงเดือนธันวาคมถึงต้นปี 66 หลังจากนั้นจะขยายการให้บริการไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทย

 

แตกไลน์จัดตั้ง “Non-Bank” 

ธนาคารยังคงเดินหน้าต่อในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ ธนาคารจึงมีแผนตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าทำธุรกิจให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) เป็นบริษัทลูก เพื่อใช้เป็นแขนขาในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้ามาใช้บริการผ่านธนาคารพาณิชย์ได้  เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเงินของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ธนาคารออมสินกลายเป็นธนาคารของรัฐแห่งแรกและแห่งเดียวที่จัดตั้งธุรกิจนอนแบงก์ในประเทศไทย

 

สำหรับธุรกิจ Non-Bank นี้ ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อผ่านระบบการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอป (Digital Lending) ตลอดทั้งกระบวนการ 100% เพื่อรองรับฐานข้อมูลลูกค้าใหม่ทั้งหมด ไม่ใช้ฐานลูกค้าเดิมของออมสิน โดยจะเน้นรายย่อย เช่น พ่อค้าแม่ค้า หรือประชาชนที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแต่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบของธนาคารได้  ล่าสุดธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจ Non Bank กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจน และสามารถดำเนินโครงการได้ในช่วง Q3 ปี 66

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp