มิติหุ้น – นายพงษ์ศักดิ์ แห่ล้อม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กเอชบีม ไวด์แฟลงก์ มานานกว่า 25 ปี เปิดเผยว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ SYS ได้รับความไว้วางใจจาก ทางบมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับประเทศในครั้งนี้ โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ภายใต้แบรนด์ SYS ที่ถูกเลือกใช้ในส่วนโครงสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงช่วงมวกเหล็กและลำตะคองนั้น เป็นเหล็กคุณภาพสูง มีคุณสมบัติตรงตามการใช้งานของโครงการนี้ สามารถตรวจสอบได้ทุกท่อน โดยมีทีมวิศวกรให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคอย่างใกล้ชิด และมีทีมประสานงานเพื่อวางแผนการส่งมอบเหล็กให้โครงการดำเนินงานก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด”
ด้านนายธนนท์ ดอกลัดดา ผู้จัดการโครงการ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทได้ร่วมลงนามในสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดำเนินงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค สายกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย”
“บริษัทในฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างชั้นนำของประเทศไทย ด้วยประสบการณ์กว่า 45 ปี จึงต้องรักษามาตรฐานการดำเนินงานด้วยการให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการก่อสร้าง โดยเฉพาะการเลือกใช้วัสดุโครงการที่มีความแข็งแรง คงทน คุ้มค่า ประหยัดแรงงานคนและเวลาในการดำเนินงาน เพื่อให้การก่อสร้างสมบูรณ์และแล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบโครงการได้ทันตามกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง ซึ่งเหล็กของ SYS สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี”
“บริษัทได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย สัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคองงานโยธาสำหรับอุโมงค์และโครงสร้างทางต่อเนื่องของรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก (ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง) ระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร ซึ่งบริษัทมั่นใจในแบรนด์ SYS ที่เป็นผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน คุณภาพสูงของไทย จึงเลือกใช้เหล็กของ SYS จำนวนมากกว่า 8,000 ตัน ในส่วนโครงสร้างอุโมงค์ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร และด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นของเหล็กของ SYS ที่ตอบโจทย์งานโครงสร้างที่แข็งแกร่งตามมาตรฐานสากล จึงสามารถมั่นใจในความปลอดภัย อีกทั้งโรงงานของ SYS อยู่ในประเทศไทย จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตและส่งมอบได้ตามกำหนดเวลา ทันส่งมอบโครงการและกำหนดเปิดให้ใช้บริการภายในปี 2569”
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน เป็นโครงการเมกะโปรเจคของประเทศไทยที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของคาบสมุทรอินโดจีน โครงการได้เริ่มลงมือก่อสร้างจริงในปี 2560 โดยเส้นทาง กรุงเทพฯ – หนองคาย ถือเป็นเส้นทางนำร่องจากทั้งสิ้น 4 เส้นทาง แบ่งการก่อสร้างออกเป็นสองเฟส เฟสแรกกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางมีทั้งสิ้น 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา เป็นการก่อสร้างในลักษณะทางยกระดับ 188.68 กิโลเมตร คันทางระดับดิน 54.99 กิโลเมตร และอุโมงค์บริเวณมวกเหล็กและลำตะคอง 8 กิโลเมตร คาดว่าแล้วเสร็จประมาณปี 2569
@mitihoonwealth