ธนาคารกสิกรไทย แจ้งผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2565 กำไร 32,579 ล้านบาท

188

มิติหุ้น  –  นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เติบโตต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ระดับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีความแตกต่างกัน และการส่งออกเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว แต่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ  ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป รวมถึงสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญของตลาดท่องเที่ยวไทย นอกจากนี้ คงต้องติดตามผลกระทบจากการขยับสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต
อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในประเทศด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยและบริษัทย่อย เดินหน้าเชิงกลยุทธ์ด้วยการใช้เทคโนโลยี และกระบวนการใหม่ ๆ รวมทั้งการผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจ และการเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค 
AEC+3 ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ให้กับประชาชนในวงกว้าง ให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและสภาพคล่อง และใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ ของธนาคาร ส่งเสริมให้ธุรกิจลูกค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น 

ผลการดำเนินงานสำหรับงวด เดือน ปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2564 

ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 32,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 4,428 ล้านบาท หรือ 15.73% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 8,261 ล้านบาท หรือ 9.32% จากรายได้ดอกเบี้ย เงินให้สินเชื่อซึ่งยังคงเป็นไปตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin NIM) อยู่ที่ระดับ 3.26% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 5,228 ล้านบาท หรือ 16.22% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ตามภาวะตลาดของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นการลงทุนตามธุรกิจปกติของบริษัทย่อย และการลดลงของรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย  สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,145 ล้านบาท หรือ 6.22% หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ทำร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss ECL) ลดลงเพียงเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยังเป็นการตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงตามหลักความระมัดระวังที่ได้พิจารณาปัจจัยเชิงเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยจะยังคงประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อใหม่ตามตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร รวมทั้งความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ 

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2565 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 

ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2565 จำนวน 10,574 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 220 ล้านบาท หรือ 2.04% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,076 ล้านบาท หรือ 3.36% ส่วนใหญ่จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อนอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 852 ล้านบาท หรือ 8.97% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง ในขณะที่การปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำนวน 181 ล้านบาท หรือ 1.00% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายพนักงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ
ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (
Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 43.73% รวมทั้งธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss ECL) ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,229,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 126,396 ล้านบาท หรือ 3.08% โดยหลักเป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อสุทธิตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธนาคารได้ดำเนินการเชิงรุกในการดูแลลูกค้า และเพิ่มความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นกำลังขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.07% โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ 148.74% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม และสะท้อนความสามาถในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 19.19% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 อยู่ที่ 17.21%

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp