มิติหุ้น – นายสัตวแพทย์ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านบริการวิชาการสุกร และรองประธานคณะกรรมการสวัสดิภาพสัตว์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตระหนักดีถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวกัน และได้นำหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” และนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการฟาร์มควบคู่กับนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Policy) และวิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล (Global Vision for Antimicrobial use Stewardship in Food Animals) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และเป็นการเพิ่มความปลอดภัยทของอาหารที่ได้มาจากสัตว์ ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเป็นการส่งเสริมประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญสูงสุดในการผลิตอาหารปลอดภัย ควบคู่กับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยและประชากรโลก” นายสัตวแพทย์ดำเนิน กล่าว
นายสัตวแพทย์ดำเนิน กล่าวต่อว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ครอบคลุมธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์และแปรรูป และธุรกิจอาหาร โดยในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ ได้นำหลักสวัสดิภาพสัตว์อิสระ 5 ประการ มาเป็นหลักปฏิบัติเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอย่างเคร่งครัด ให้ได้รับอาหารและน้ำอย่างพอเพียง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถแสดงพฤติกรรมของสัตว์ได้ตามธรรมชาติ และเมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ ตลอดจนยกระดับการป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรฐานสากล ทั้งฟาร์มไก่เนื้อ–ไก่ไข่ ฟาร์มสุกรและฟาร์มสัตว์น้ำ
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้ประกาศนโยบายด้านการใช้ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial) ครอบคลุมยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ด้วยความรับผิดชอบและสมเหตุผล คือ ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นในการรักษาสุขภาพของสัตว์ที่เจ็บป่วย เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม โดยจะเลือกใช้ยาสำหรับสัตว์เป็นลำดับแรกและใช้อย่างระมัดระวัง สร้างหลักประกันเนื้อสัตว์ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดโอกาสเกิดเชื้อดื้อยา
ซีพีเอฟ ตระหนักดีถึงหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” และปฏิบัติใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ปลอดภัย และส่งต่อไปยังกระบวนการผลิตนวัตกรรมอาหารรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต เช่น นวัตกรรมโปรตีนสัตว์จากพืช (Plant-based Protein) หมูชีวา เนื้อหมูมีโอเมก้า 3 ไก่เบญจา ซึ่งได้รับการรับรองการเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู ที่ให้ความสำคัญกับสุขโภชนาการควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
“ซีพีเอฟ มีการวัดผลการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ (Welfare Outcome Measures : WOMs) เพื่อประเมินว่าสัตว์ได้รับการปฏิบัติสวัสดิภาพชั้นสูง ส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้ง” นายสัตวแพทย์ดำเนิน กล่าวและเสริมว่า ภายใต้เป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน “CPF 2030 Sustainability in Action”(2573) บริษัทฯ มีการส่งเสริมการเลี้ยงแม่สุกรอุ้มท้องอยู่ในคอกขังรวม 100% เพิ่มกำลังการผลิตไก่ไข่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระในโรงเรือนปิด 30% เทียบกับปี 2563 และการเลี้ยงไก่เนื้อได้รับการเสริมสภาพแวดล้อมทางกายภาพมี แกลบ กระสอบทราย ลูกบอล และคอน ให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมจิกและเกาะตามธรรมชาติ ปัจจุบันสัตว์ในฟาร์มของบริษัทฯ 100% ได้รับการเลี้ยงดูตามหลักอิสระ 5 ประการ ภายใต้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล.
@mitihoonwealth