LEO สุดเจ๋ง !! เสริมแกร่งขนส่งทางรางเซ็นสัญญาความร่วมมือกับ “China Post” พร้อมจับมือ 2 ยักษใหญ่ “เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท – ศรีตรังโลจิสติกส์” ต่อยอดบริการขนส่งสินค้าทางราง จีน-ลาว-ไทย หนุนรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 200 ลบ./ปี

184

มิติหุ้น – บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) พร้อมลุยระบบการขนส่งทางราง เดินหน้าเซ็นสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ กับ China Post Yunnan รัฐวิสาหกิจชั้นนำของจีน พร้อมจับมือ “เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท – ศรีตรังโลจิสติกส์” เสริมความแข็งแกร่งขนส่งสินค้าทางรถไฟ จีน-ลาว-ไทย  รวมถึงพัฒนาธุรกิจซัพพลายเชน หาสินค้าจากประเทศไทยผ่าน e-Commerce Platform ของ China Post ในประเทศจีน  ฟากซีอีโอ “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” ระบุความร่วมมือในครั้งนี้ ทำให้ LEO สามารถขยายการให้บริการโลจิสติกส์สำหรับการขนส่งสินค้าทางรางไปยังประเทศจีนได้ครบวงจรมากขึ้น หนุนรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท/ปี ผลักดันผลงานโตกระฉูด ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป

นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (LEO) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 บริษัทฯ  ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ (Strategic Cooperation Agreement ) กับ China Post Yunnan (China Post) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด และ บริษัท  ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด โดยทั้ง 3 บริษัทฯ จะร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการขนส่งด้วยระบบตู้สินค้า (Container) ในรูปแบบการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน (คุนหมิง) – สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เวียงจันทน์) – ประเทศไทย โดยมีนายกร ทัพพะรังสี นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน เป็นประธานกล่าวเปิดงานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ

สำหรับการเซ็นสัญญาการร่วมมือทางธุรกิจ (Strategic Cooperation Agreement) กับ China Post ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และการดำเนินธุรกิจเรื่องซัพพลายเชนในการหาสินค้าจากประเทศไทยเพื่อไปขายใน e-Commerce Platform ของ China Post ในประเทศจีน นอกเหนือจากธุรกิจด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้มีความร่วมมือกันมาก่อนหน้านี้ อีกทั้ง LEO  ซึ่งเป็น Exclusive Partner ของ  China Post  ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากทางรัฐบาลจีนให้เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่มาช่วยทำการตลาดและขยายการบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ

ส่วนความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ ได้แก่บริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด และ บริษัท  ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด เพื่อร่วมกันในการขยายธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังประเทศจีนและลาวเพิ่มเติมจากการเป็นพันธมิตรกับ China Post   โดยทางบริษัทเบาไทยฯ เป็นตัวแทนของ E – Commerce Platform ในระดับมณฑลใหญ่ๆ ในประเทศจีน เช่น มณฑลยูนนาน มณฑลฉงชิ่ง มณฑลเฉิงตู ฯลฯ ซึ่งแต่ละมณฑล ได้ดำเนินการขนส่งสินค้าจากประเทศจีนส่งออกมายังประเทศไทย ผ่านเส้นทางรถไฟลาวจีน (LCR-LAOs China Railway) และยังสามารถผ่านแดนข้ามแดน (Cross Border)  ไปยังประเทศที่ 3 ในเขตอาเซียน และภูมิภาค BIMSTEC

สำหรับบริษัท ศรีตรัง โลจิสติกส์ฯ เป็นบริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ครอบคลุมภายในประเทศไทยและผ่านแดนไปยังประเทศมาเลเซีย  ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าที่มีการส่งออกสินค้าประเภทยางพาราจากทางภาคใต้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยใช้การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น รถบรรทุก-รถไฟ-เรือชายฝั่ง   บริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ เป็นผู้ประกอบการการขนส่งทางรถไฟระดับตัวจริงที่มีประสบการณ์ในการขนส่งสินค้าทางรถไฟทั่วประเทศมานานมากกว่า 7 ปี และยังมีสัญญาในการใช้เส้นทางรถไฟในลักษณะสัญญาเช่าเหมาขบวน ( Block Train) โดยมีเปิดขบวนขนส่งสินค้าที่ทำสัญญาเช่าเหมาขบวน ไม่ต่ำกว่า 6 เส้นทางภายในประเทศไทย และ 2 เส้นทางระหว่างประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง LEO กับบริษัทเบาไทยฯ และศรีตรัง โลจิสติกส์นี้ จะเพิ่มความแข็งแกร่งและศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางรางไปยังประเทศจีนให้กับทาง LEO เพราะจะทำให้มีสินค้าทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับกับประเทศจีนและมีรายได้ 2 ทาง และยังทำให้ LEO มีความใด้เปรียบในการใช้การขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยังประเทศลาวเพื่อต่อขบวนรถไฟจีนในลาว ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีต้นทุนในการขนส่งที่ถูกกว่าบริษัทอื่นๆ ที่ต้องใช้รถบรรทุกเพื่อการขนส่ง   รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit)  อีกด้วย  โดย LEO ก็จะรับทำหน้าที่ในส่วนของการวางแผนการตลาดและการขายสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ให้กับกลุ่มลูกค้าของบริษัทที่มีจำนวนมากกว่า 1,400 รายและเครือข่ายทั่วโลกของบริษัทกว่า 190 ประเทศ

” บริษัทฯ คาดว่าในปี 2566 บริษัทจะสามารถสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้าทางรางร่วมกับพันธมิตรทั้ง 3 บริษัทคือ China Post-เบาไทยฯ และศรีตรัง โลจิสติกส์ฯ ได้อย่างน้อยปีละ 200 ล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวไม่ได้นับรวมถึงธุรกิจที่บริษัทฯจะดำเนินร่วมกับทาง Tengjun ที่เป็นพันธมิตรในประเทศจีนอีก 1 บริษัทที่มีการเซ็น MOU และสัญญาในการดำเนินธุรกิจร่วมกันเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา” นายเกตติวิทย์ กล่าวในที่สุด

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp