BPP เจาะ “ตลาดไฟฟ้าเสรี” โอกาสของผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟในบริบทใหม่

261

มิติหุ้น – แนวคิด “ตลาดไฟฟ้าเสรี” หรือ Merchant Power Market ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงในวงกว้างมากขึ้นในช่วง    2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีคำถามจากผู้บริโภคเกิดขึ้นมากมายว่าเหตุใดประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ถึงได้เป็นตลาดไฟฟ้าเสรี มีขั้นตอนหรือระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน จากตลาดไฟฟ้าที่มีผู้ซื้อไฟรายเดียว (Single Buyer Market) ไปสู่ตลาดไฟฟ้าเสรีอย่างไร รวมถึงผู้บริโภคหรือผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละกลุ่มจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร การใช้ไฟในตลาดไฟฟ้าเสรีนั้นค่าไฟถูกกว่าจริงหรือ และที่สำคัญคือผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อะไรเมื่ออยู่ในตลาดไฟฟ้าเสรี

ดร.กิรณ ลิมปพยอม ซีอีโอ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ กล่าวว่า “จากประสบการณ์ของบ้านปู เพาเวอร์ ที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้ามากว่า 20 ปีในหลากหลายประเทศ ได้เห็นมุมมองการใช้ไฟในตลาดหลากหลายรูปแบบ ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบที่เป็นตลาดไฟฟ้าที่มีผู้ซื้อไฟรายเดียวไปสู่ตลาดไฟฟ้าเสรีนั้น ใช้ระยะเวลาแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายด้านพลังงาน ความต้องการใช้ไฟฟ้า ประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รายได้ประชากรต่อหัว ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค โดยจะต้องตอบโจทย์ทั้งทางด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

เส้นทางความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี

ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าแต่ละประเทศมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดไฟฟ้าเสรีแล้วหรือยัง สามารถพิจารณาได้จาก 1) มีจำนวนผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในตลาดที่มากพอให้ผู้บริโภคได้เลือก 2) ผู้ผลิตไฟฟ้าในตลาดไม่มีรายใดมีอิทธิพลเหนือตลาดหรือสามารถกำหนดราคาได้ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าไฟเกิดมาจากการแข่งขันที่เป็นธรรมตามกลไกตลาด 3) มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้รองรับกับตลาดไฟฟ้าเสรี และ 4) มีแผนนโยบายในการเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจน ด้วยปัจจัยที่กล่าวไป ส่งผลให้แต่ละประเทศใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดไฟฟ้าเสรีที่แตกต่างกันไป

ในประเทศญี่ปุ่นใช้เวลาประมาณ 15-16 ปี ถึงสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปี 2016 เริ่มจากการเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณมากอย่างโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟได้เอง จากนั้นจึงขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าขนาดกลาง เช่น โรงพยาบาล โรงงาน กิจการ SME และกลุ่มลูกค้าครัวเรือนหรือผู้บริโภครายย่อย ตามลำดับปริมาณการใช้ไฟ โดยมีการพัฒนาและเตรียมความพร้อมระบบต่างๆ เช่น รูปแบบสัญญาซื้อขาย ระบบการจัดส่ง ระบบการชำระเงิน ฯลฯ มารองรับการดำเนินงานของผู้ขายไฟอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงทำหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่นระบบสายส่งอยู่ เพราะไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสำหรับเอกชนในการสร้างสายส่งเพิ่มเติมโดยไม่มีความต้องการรองรับ

ขณะที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ปี 1996 และเป็นตลาดไฟฟ้าเสรีสมบูรณ์ในปี 2009 โดยเริ่มจากภาครัฐวางกรอบนโยบายพร้อมทั้งแสดงเจตจำนงว่าจะมีการเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ตลาดไฟฟ้าเสรีภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานตลาดไฟฟ้า ทั้งผู้ผลิต ผู้ดูแลระบบสายส่ง ผู้จำหน่ายและแจกจ่าย และผู้บริโภคที่ใช้ไฟฟ้า ได้เตรียมความพร้อม

“ต้นทุนพลังงาน” ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟ

ไม่ว่าจะอยู่ในตลาดไฟฟ้าแบบไหน ก็ต้องเผชิญกับการปรับค่าไฟขึ้นหรือลง ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนพลังงานในการผลิตไฟฟ้าที่ประกอบด้วย “ราคาเชื้อเพลิง” และ “ต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า” ของแต่ละประเทศ โดยแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ได้แก่ ต้นทุนเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวน ส่วนระยะกลางหรือระยะยาว เป็นผลจากตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ       เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในส่วนของค่าแรงหรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการก่อสร้างหรือปรับปรุง  การดำเนินงานในอนาคต โดยแต่ละตลาดซื้อขายไฟฟ้าก็จะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป

ในตลาดที่มีผู้ซื้อไฟรายเดียว ภาครัฐเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจากผู้ผลิตไฟฟ้า โดยทำหน้าที่เป็นเจ้าของและควบคุมดูแลการดำเนินงานของระบบสายส่งและระบบจำหน่ายเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้บริโภค การปรับราคาค่าไฟอาจมาจากราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนอื่นๆ โดยจะมีการเฉลี่ยต้นทุนจากตลาดโดยรวมในทุกพื้นที่ที่      ดูแลอยู่ การปรับราคาค่าไฟที่สะท้อนต้นทุนการผลิตมักจะทำได้ช้ากว่าระบบตลาดไฟฟ้าเสรีเพราะมักจะมีข้อจำกัดในการปรับราคาตามกลไกภาครัฐ แต่มีข้อดีคือ ภาครัฐสามารถควบคุมราคาไฟฟ้าที่จะส่งต่อไปยังผู้บริโภครายย่อยได้ สามารถแทรกแซงโดยการตรึงค่าไฟหรือให้การอุดหนุนอื่นๆ ในขณะที่อาจไม่สะท้อนภาพของการแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนไป

ขณะที่ตลาดไฟฟ้าเสรี ซึ่งมีกลไกที่กำหนดการซื้อ-ขาย ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับบริษัทเอกชนผ่านระบบตลาดขายส่งไฟฟ้า (Wholesale Market) โดยต้นทุนของผู้ผลิตเกิดจากต้นทุนพลังงาน (Energy cost) คิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย ต้นทุนความหนาแน่นของการส่งไฟในระบบ (Congestion cost) ที่เฉลี่ยมาจากแต่ละพื้นที่ และต้นทุนการสูญเสียไปในระบบสายส่ง (Loss) จากการที่พลังงานไฟฟ้าบางส่วนสูญหายระหว่างการขนส่งในระบบ ต่อมาเมื่อนำไฟฟ้ามาจำหน่ายในตลาดค้าปลีก (Retail Market) ก็จะมีต้นทุนค่าการตลาด และค่าการกระจายไฟฟ้าไปยังผู้บริโภคเข้ามาด้วย ข้อดีคือ เอกชนที่แข่งขันกันในตลาดมักจะมีความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงได้ดี มีความเชี่ยวชาญ สามารถรักษาเสถียรภาพของราคาได้ระดับหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีสัญญาซื้อ-ขายระยะยาว นอกจากนี้ กลไกราคายังมีประสิทธิภาพ เพราะมีการเปิดเผยราคาซื้อขาย ทำให้เอกชนสามารถแข่งขันกันได้ แต่มีอีกประเด็นที่ต้องคำนึงคือ หากต้นทุนการผลิตผันผวน อาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้ารายย่อยผันผวนตามไปด้วย ราคาไฟในตลาดจะมีการขยับขึ้นหรือลงตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอยู่เสมอ

ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างไรในตลาดไฟฟ้าเสรี

ในฝั่งของผู้บริโภคไฟฟ้ารายใหญ่ แน่นอนว่าได้ประโยชน์ด้านต้นทุน สามารถเข้าถึงแหล่งที่ให้ต้นทุนถูกที่สุด ขณะที่ลูกค้ารายย่อย ได้ประโยชน์จากการแข่งขันกันของผู้ผลิตและผู้ขายไฟที่ส่งผลให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดและแข่งขันกันออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการตลาดต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกผู้ผลิตได้เหมือนเลือกผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยสามารถเลือกให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของตนเอง รวมทั้งเลือกได้ว่าจะเน้นใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งใด เป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนหรือผลิตจากเชื้อเพลิงที่หาได้ภายในท้องถิ่น เพื่อให้ประโยชน์คืนกลับสู่ท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ได้สูงสุด ดังเช่นในญี่ปุ่นที่มีนโยบายภาษีท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น

ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading)

ในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี แพลตฟอร์มซื้อ-ขายไฟฟ้า (Energy Trading) นับเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยบริหารความเสี่ยงหรือจัดการความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในระบบทั้งในฝั่งของผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้บริโภค รวมถึงสร้างโอกาสในการทำกำไรเพิ่มขึ้น โดยเป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขายไฟฟ้าที่มีกระบวนการคล้ายกับการซื้อขายสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในตลาดขายส่งไฟฟ้า (Wholesale electricity market) มีประโยชน์ในการซื้อไฟฟ้าในราคาที่ต้องการหรือเป็นช่องทางทำกำไรจากส่วนต่างของราคาปัจจุบันและราคาในวันที่ส่งมอบ ผู้ที่มีบทบาทในตลาดนี้ ได้แก่ ผู้ผลิตไฟฟ้า สถาบันการเงิน และนักลงทุนรายใหญ่

สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้านั้น Energy Trading เป็นช่องทางที่ใช้เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างเสรีตามความสามารถในการแข่งขันของตนเอง โดยสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาช่วยลดความผันผวนของราคา ทำให้ผู้ผลิตสามารถประเมินรายรับได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยง ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่จะหาโอกาสทำกำไรในขณะที่รอส่งมอบสินค้า รับความเสี่ยงด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงเข้ามาช่วย อย่างไรก็ดี การมีตลาดซื้อขายไฟฟ้าก็ช่วยทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาจึงส่งผลดีต่อผู้บริโภคในทางอ้อมด้วย

สำหรับการเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบตลาดไฟฟ้าที่มีผู้ซื้อรายเดียวไปสู่ตลาดไฟฟ้าเสรีนั้น แน่นอนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในตลาดที่ทำให้ราคาค่าไฟโดยทั่วไปจะถูกลง อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็ต้องรับมือกับความผันผวนของราคาค่าไฟฟ้าที่มากขึ้นด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านจึงต้องใช้ระยะเวลาและมีกลไกในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในมุมของผู้บริโภคก็ต้องมีการศึกษารูปแบบการซื้อไฟฟ้าที่จะตอบโจทย์การใช้ไฟฟ้าของตนเองมากที่สุด ในมุมของผู้ขายก็ต้องนำเสนอรูปแบบการขายหรือมีกลยุทธ์การตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า ในมุมของผู้ผลิตไฟฟ้าก็เช่นกัน ต้องมีความเข้าใจในเทรนด์พลังงานของโลกและความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าและสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อคนทุกกลุ่มตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp