กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 37.10-37.95 ติดตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ

38

มิติหุ้น  –  กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 37.10-37.95 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 37.52 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 37.47-38.10 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินยูโรและปอนด์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ขึ้นดอกเบี้ย 75bp สู่กรอบ 3.75-4.00% ตามคาด แต่แถลงการณ์ส่งสัญญาณว่าเฟดตระหนักถึงการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวในช่วงที่ผ่านมาและการที่นโยบายการเงินส่งผลล่าช้า (lag) ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดมองว่าเฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในอัตราชะลอลง อย่างไรก็ดี ประธานเฟดระบุว่าหากเฟดคุมเข้มนโยบายการเงินไม่มากพอ จะทำให้ภาวะเงินเฟ้อยืดเยื้อ และยังเร็วเกินไปที่จะหารือเรื่องการหยุดขึ้นดอกเบี้ย ยิ่งไปกว่านั้น ดอกเบี้ยปลายทางในปี 66 จะสูงกว่าระดับที่เฟดเคยคาดไว้ที่ 4.50-4.75% โดยภายหลังการประชุมตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจแตะจุดสูงสุดที่ 5% เป็นอย่างน้อย ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)ขึ้นดอกเบี้ย 75bp สู่ 3.00% โดยบีโออีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 11% ในไตรมาสนี้ แต่ให้ความเห็นว่าตลาดคาดการณ์เรื่องการปรับดอกเบี้ยสูงเกินไปพร้อมเตือนถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอังกฤษจะถดถอยนานที่สุดในรอบ 1 ศตวรรษและอาจจะไม่ขยายตัวไปอีก 2 ปี อนึ่ง ช่วงท้ายสัปดาห์ นักลงทุนเทขายดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินหยวนท่ามกลางความหวังเรื่องจีนอาจใกล้ทยอยเปิดประเทศ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิสูงถึง 14,191 ล้านบาท และ 14,467 ล้านบาท ตามลำดับ

 

สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับการเลือกตั้งกลางเทอมและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค.ของสหรัฐฯ รวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลังตัวเลขการจ้างงานออกมาในเชิงผสม โดยเรามองว่าค่าเงินดอลลาร์จะแกว่งตัวผกผันไปกับบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์มากกว่าการปรับตัวของบอนด์ยิลด์ในระยะนี้ แม้ว่าล่าสุดจีนยังคงยึดมั่นในนโยบายปลอดโควิด แต่กระแสข่าวที่เกี่ยวข้องจะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่อไป

 

สำหรับปัจจัยในประเทศ บัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาเกินดุลเล็กน้อยในเดือนก.ย.จากการเกินดุลการค้าเป็นหลัก ขณะที่ธปท.ระบุหลังการตัดสินนโยบายล่าสุดของเฟดว่าการดำเนินนโยบายของไทยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของไทยและสามารถยืดหยุ่นได้ เรามองอย่างระมัดระวังต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งมีแนวโน้มผันผวนสูงต่อเนื่อง

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp