THCOM ไทยคมรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3/2565 และงวด 9 เดือนปี 2565 กำไร 9 เดือนแรกจากธุรกิจหลัก 528 ล้านบาท พลิกฟื้นจากขาดทุน 88 ล้านบาทในปีก่อน และ Q3/2565 รายได้เติบโตต่อเนื่อง 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า

198

มิติหุ้น – บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (“THCOM” หรือ “บริษัท”) ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 3/2565 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2565ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122.8% และเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ที่มีกำไรสุทธิที่ 216 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีกำไรจากธุรกิจหลัก (กำไรจากการดำเนินงานซึ่งไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนจากการร่วมค้า และรายการพิเศษอื่น) ที่ 528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลขาดทุน (88) ล้านบาท สำหรับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากต้นทุนค่าเสื่อมราคาดาวเทียมและค่าสัมปทานที่ลดลง ชดเชยกับรายได้ที่ลดลงจากลูกค้าบรอดคาสต์

ไตรมาสที่ 3/2565 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเป็นจำนวน 762 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับรายได้ 737 ล้านบาทในไตรมาส 2/2565 (QoQ) เนื่องมาจากรายได้ค่าบริการเพิ่มขึ้นจากลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นบริการต่อเนื่องระยะยาว โดยบริษัทมีกำไรจากธุรกิจหลัก อยู่ที่ 190 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2565 ที่ 200 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 121 ล้านบาท ลดลง 60.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่ 309 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการบันทึกการด้อยค่าของดาวเทียมในไตรมาสที่ 3/2565 เป็นจำนวน 259 ล้านบาท สืบเนื่องจากแนวโน้มอุตสาหกรรมด้านความต้องการบริการบรอดคาสต์โดยทั่วไปที่ลดลง ประกอบกับความล่าช้าในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมในต่างประเทศจากกระบวนการที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้การขายช่องสัญญาณล่าช้ากว่าแผนธุรกิจเดิม ในขณะที่ไตรมาส 3/2565 บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจำนวน 314 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 36.8% จาก 229 ล้านบาทในไตรมาส 2/2565 (QoQ) จากค่าเงินบาทไทยที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐมากกว่าหนี้สิน

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2564 (YoY) รายได้จากการขายและการให้บริการลดลง 17.7% จาก 925 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักจากการลดลงของลูกค้าบรอดคาสต์ในประเทศ ประกอบกับการขายโครงการซึ่งเป็นการให้บริการแบบครั้งคราว (occasional service) ที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3/2564  ทั้งนี้กำไรจากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 950.1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2564 จำนวน 18 ล้านบาท เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างต้นทุนจากการสิ้นสุดลงของสัมปทานดาวเทียม ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าเสื่อมราคาดาวเทียมและต้นทุนค่าสัมปทานลดลง อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิในไตรมาสปัจจุบันปรับตัวลดลง 17.0% จาก 146 ล้านบาทในไตรมาส 3/2564 ซึ่งเป็นผลกระทบจากการด้อยค่าของดาวเทียมดังกล่าว

ในช่วงไตรมาส 3/2565 บริษัทลงนามสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกับ Orbital Insight บริษัทชั้นนำด้านการให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geospatial) จากสหรัฐอเมริกา โดยจะร่วมกันให้บริการนำข้อมูลทางเทคโนโลยีอวกาศต่างๆ มาวิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมบนพื้นโลก ผ่านแพลตฟอร์ม Geospatial Analytics แก่ลูกค้าทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค  โดยแพลตฟอร์มของ Orbital Insight เป็นแหล่งรวมข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและพื้นโลก จากผู้ให้บริการที่หลากหลายครอบคลุมทั่วโลก เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลระบุพิกัดตำแหน่งจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ ระบบหรืออุปกรณ์ติดตามเรือ รวมถึงข้อมูล IoT อื่นๆ โดยจะนำข้อมูลต่างๆ มาประมวลผลด้วยเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) เพื่อใช้สำหรับการวิเคราะห์กิจกรรมบนพื้นโลก (ภูมิสารสนเทศ) ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการภาคส่วนต่างๆ เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่ง การบริหารจัดการสาธารณูปโภคเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์สำหรับภาคธุรกิจ

โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ สอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของไทยคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและขยายบริการร่วมกับพันธมิตร เพื่อช่วยเสริมศักยภาพและต่อยอดการให้บริการของไทยคมสู่ตลาดใหม่ในฐานะผู้ให้บริการชั้นนำในภูมิภาคด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Regional Space Tech Company) อีกทั้ง การนำเทคโนโลยี geospatial มาประยุกต์ใช้ จะมีส่วนช่วยในการนำข้อมูลต่างๆ มาใช้เพื่อการวางแผน และประกอบการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ สร้างประโยชน์แก่ลูกค้าของไทยคมทั้งภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3/2565 สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมมือกับบริษัทเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร Earth Observation (EO) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในงานประกันภัยข้าวนาปี นำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด สุโขทัย โดยได้กำหนดให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมและข้อมูล (Sandbox Areas) รวม 3 ล้านไร่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลในการรับมือกับภัยธรรมชาติต่างๆ ก่อนขยายออกสู่พื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่ประกันภัยข้าวนาปีทั่วประเทศไทย

ในส่วนของกลุ่มบริษัทในเครือ บริษัท ลาว เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (แอลทีซี) ในประเทศลาว มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 รวมทั้งสิ้น 2.23 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 2.01 ล้านราย ณ สิ้นปี 2564 และยังคงมีส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอันดับหนึ่ง โดยแอลทีซี มีการฟื้นตัวที่ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มีการเติบโตของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นจากการเปิดตัวแบรนด์ T-PLUS และมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอย่างต่อเนื่อง

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp