“ภากร ปีตธวัชัย” เอ็มดี ตลาดหลักทรัพย์ ควง “พิเชษฐ สิทธิอำนวย” นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ แถลงด่วน โดยยอมรับถึงความผิดปกติการซื้อขายหุ้น MORE หรือบมจ.มอร์ รีเทิร์น และได้หารือร่วมกับบริษัทสมาชิก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ MORE ที่อาจเข้าข่ายเป็นรายการที่ผิดปกติ
แต่ทั้งนี้ ไม่ขอเปิดเผยมูลค่าซื้อหุ้น MORE เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อการสอบสวน แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าโบรกเกอร์ทุกรายยังสามารถให้บริการกับผู้ลงทุนได้ตามปกติ
ข้อสำคัญขนาดของSET ระดับจำนวน 20 ล้านล้านบาท ดังนั้นมูลค่าที่เกิดขึ้นกับ MORE ถือว่าเล็กมาก
ประเด็นของมูลค่าความเสียหาย ดูจิ๊บจ๊อยในสายตาของSET!!! แต่ในสายตาของผู้ลงทุนรายย่อยไม่เล็กนะครับ
ดูแล้ว หน่วยงานกำกับจะหลงประเด็น ไม่งั้นเป็นไปได้ว่า ไม่สามารถยอมรับความจริงที่ว่า ระบบการให้วงเงินมาร์จิ้น มีความหละหลวม เปิดช่องให้คนกล้าบ้าบิ่นอาศัยช่องโหว่เข้ามาเอาเปรียบผู้ลงทุนอื่นในตลาดทุน
ข้อสำคัญ ขนาดของเคสนี้อาจไม่ใหญ่(ตามสายตาของหน่วยงานกำกับ) แต่ได้ทำลายความน่าเชื่อ ทำลายความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อหน่วยงานกำกับ เพราะจากนี้ไป หากเกิดมีใครอุตริ ใช้รูปแบบนี้ แปลงร่างอวตาร MORE มาอีก หน่วยงานกำกับจะทำอย่างไร
ว่ากันว่า ความเสียหายนี้เกิดขึ้นกับโบรกเกอร์กว่า 10 แห่ง โบรกแบงก์โดนถ้วนหน้า ระดับความเสียหายขึ้นอยู่กับ ระดับเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ(NCR) ที่มีอยู่ และในเร็ววันนี้ ทางก.ล.ต. คงเข้าตรวจสอบระดับNCR ของโบรกฯว่ามีเพียงพอหรือไม่ โบรกฯใหญ่คงไม่ถึงขั้นล้ม เพราะทุนหนา แต่อาจทำให้ระดับ NCR ลดลง
ในวันนี้เริ่มเห็นหลายโบรกฯออกมาแสดงตัวว่าไม่ได้รับผลกระทบ โดยบล.กรุงศรี ยืนยันมีฐานะทางการเงิน NCR สูงกว่าเกณฑ์ ขณะที่ บล.โนมูระ พัฒนสิน บล.ฟิลลิป บล.พาย และบล.ฟินันเซีย ยืนยันไม่พบการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวที่มีนัยสำคัญ บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติต่อไป ด้านบล.ดาโอ แจงว่ามี NCR เพียงพอ
ความคืบหน้าในเคสนี้ วันที่ 14 พ.ย. คงต้องติดตามกันว่า ผู้ซื้อจะมาตามนัด ยอมจ่ายค่าหุ้นMORE ไหม หากไม่มีคงต้องถูกฟอร์ซเซล แต่ในเมื่อหุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย SP อยู่ คงยังไม่สามารถฟอร์ซเซลได้
ว่ากันว่าโบรกฯจะเลือกจ่ายค่าซื้อเฉพาะเคสเล็ก ๆ ส่วนเคสที่มีกลิ่นไม่ดี และมูลค่าหลักพันล้านอาจถูกฟรีซ
กรณีเบี้ยวหนี้ค่าหุ้นจริง ทางโบรกเกอร์ก็ต้องไปไล่บี้ฟ้อง เป็นเพียงคดีอาญา เพราะทางความผิดด้านตลาดทุนในขณะนี้อาจยังไม่ปรากฎชัดเท่าใด เบื้องต้นดูไม่พบองค์ประกอบความผิดตลาดทุน
วงการหลักทรัพย์ เม้าท์กันว่า สิ่งที่จะทำจากนี้ต้องเรียกความเชื่อมั่นของระบบให้กลับคืนมา โดยเฉพาะการให้วงเงินบัญชีมาร์จิ้น ต้องถึงขั้นรื้อกฎเกณฑ์ใหม่ หลักประกันที่นำไปใช้แล้วไม่สามารถนำไปใช้ซ้ำได้อีก หรือแม้แต่ควรจะมีหน่วยงานกลางเพื่อตรวจสอบเครดิต เหมือนกับเครดิตบูโร
@mitihoonwealth