SMD โชว์ผลงาน 9 เดือน1.8 พันลบ.โตแรง 55.41%

339

SMDผลการดำเนินงานมีรายได้และกำไร 9 เดือนแรก 2565 ดีต่อเนื่อง ทำรายได้ 1,841.12 ล้านบาท เติบโตขึ้น 55.41% และมีกำไรสุทธิ 291.89 ล้านบาท กำไรเติบโตขึ้น 10.28% สภาพคล่องเงินสดล้นมือ ผู้บริหารเดินหน้าขยายโอกาสไปยังธุรกิจใหม่ พร้อมซุ่มเตรียมเปิดตัว ATK นวัตกรรมใหม่ที่แรกในไทย ตรวจได้ทั้งเชื้อ COVID19 และ Influenza A+B

 

บมจ.เซนต์เมด (SMD) ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เผยผลงานไตรมาส 3/65 กวาดรายได้รวม 442.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 68.45 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือน 2565 มีรายได้รวม 1,841.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  656.47 ล้านบาท หรือยอดขายเพิ่มขึ้น 55.41% กำไรสุทธิ 291.89 ล้านบาท กำไรเติบโตขึ้น 10.28% โชว์ฟอร์มทำสถิติมีรายได้และกำไร 9 เดือนแรกสูงสุดต่อเนื่อง ด้านผู้บริหารลุยเป้ารายได้ปี 65 ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปีหน้าเติบโตไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายไม่น้อยกว่า 2,200 ล้านบาท ขณะนี้มีเงินสดเต็มหน้าตัก สภาพคล่องล้นมือ เงินกู้ธนาคารระยะสั้นและระยะยาวจ่ายคืนหมดแล้วไม่มีเหลือ พร้อมลงทุนเดินหน้าขยายโอกาสไปยังธุรกิจใหม่  เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 (กรกฎาคม-กันยายน) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการบริการ จำนวน 442.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 68.45 ล้านบาท ถึงจะชะลอจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย แต่ทำได้ดีเกินคาดแม้รายได้จาก ATK จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับต้นปีนี้

คาดการณ์ผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปียังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อ ซึ่งได้รับผลบวกจากความต้องการสินค้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับรักษาโรคยากและซับซ้อนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมซุ่มพัฒนาสินค้า เตรียมเปิดตัว ATK นวัตกรรมใหม่ที่แรกในไทย ตรวจได้ทั้งเชื้อ COVID-19 และ Influenza A+B (SARS-CoV-2 and Influenza A+B Antigen Combo Rapid Test) ซึ่งจะมีออกมาจำหน่ายทั้งแบบ professional use สำหรับโรงพยาบาลและแบบ home use สำหรับตรวจด้วยตัวเอง ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม คาดว่าเมื่อเปิดตัวจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19  สายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์ XBB ที่เริ่มกลับมาระบาดหนักใหม่ในหลายๆประเทศ จากมาตรการผ่อนคลายในประเทศต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A+B

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 /2565 รายได้จากการขายแยกตามกลุ่มบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤต คิดเป็นสัดส่วน 46.41% กลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับคิดเป็นสัดส่วน 21.83% กลุ่มหทัยวิทยาคิดเป็นสัดส่วน 5.78% กลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 24.66% และกลุ่มสมาร์ทฮอสพิทอล คิดเป็นสัดส่วน 1.13% เป็นต้น โดยมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าที่เป็นภาครัฐ 58% และลูกค้าภาคเอกชน 42%

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าลุยงานในไตรมาส 4 อย่างเต็มที่ เพื่อเป้ารายได้รวมในปี 2565 อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ SMD ได้เดินหน้าต่อยอดธุรกิจเดิมรวมถึงขยายธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตแบบสมดุล  ยั่งยืน และรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

  • เพิ่มและเน้นสินค้าใหม่สำหรับผู้ที่หายป่วยจาก Covid แล้ว แต่ยังคงมีอาการ Long COVID ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการขณะป่วยมากยิ่งมีโอกาสเกิด Long Covid มากขึ้นเท่านั้น เครื่องมือที่เกี่ยวเนื่องสำหรับการรักษา เช่น เครื่องตรวจสมรรถภาพปอดระดับสูง (Lung Function Test) แบบ Bodystik, เครื่องเพิ่มสมรรถภาพการไหลเวียนโลหิต (EECP), และเครื่องผลิตออกซิเจนขนาดเล็กแบบพกพาติดตัว (Portable Medical Oxygen Concentrator), เครื่องบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) เป็นต้น

 

  • ธุรกิจบริการให้เช่าเครื่องมือแพทย์ ในลักษณะการเช่าซื้อ (Leasing) รองรับความต้องการของโรคพยาบาลภาครัฐ โรงเรียนแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ที่ไม่ได้มีเงินก้อนใหญ่สำหรับซื้อเครื่องมือแพทย์ราคาสูงเต็มจำนวนในครั้งเดียว ให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ ที่มีความทันสมัยและเป็นเครื่องมือที่มีความซับซ้อนได้ง่ายยิ่งขึ้น ตอบโจทย์เทรน Aging Society ซึ่งประเทศไทยกำลังจะมีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นในอนาคตและต้องการเครื่องมือแพทย์มาดำเนินการรักษาโรคต่างๆอย่างเพียงพอ
  • ธุรกิจด้านซอฟแวร์ทางการแพทย์ (Health Tech) ถือเป็นการนำระบบซอฟแวร์ Telemedicine ต่างๆ มาเชื่อมต่อระหว่างเครื่องมือแพทย์เพื่อไปสู่ Hospital Information System ของโรงพยาบาล รวมถึงการจัดจำหน่ายระบบ Hospital Information System โดยบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท อีซีฟาย เทคโนโลยี จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ระบบ EzHMIS เป็นระยะเวลา 3 ปี (ลงนามในสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่าย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565) นอกจากนี้ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาโปรเจค Health Tech อื่นๆเพื่อเป็นทางเลือกในการทำธุรกิจแบบไม่หยุดอยู่กับที่
  • ธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ Selfcare ผ่านเครื่อง Vending Machine ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบต่างๆให้พร้อม และดีลสถานที่วางกับโรงพยาบาลต่างๆ คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายประมาณปี 2566 ที่จะถึงนี้ โดยเป็นการขายสินค้าอุปกรณ์สำหรับใช้ดูแลสุขภาพด้วยตัวเองที่บ้าน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ปรอทวัดไข้ดิจิตอล วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ ATK เป็นต้น ผ่านช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Vending Machine ซึ่งหน้าจอเป็นระบบทัชสกรีนขนาดใหญ่ จ่ายเงินสะดวกด้วยระบบ QR code บัตรเครดิต เงินสด ธนบัตร ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน โดยในเฟสแรก จะเน้นการวางตู้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ให้ผู้ป่วยที่ต้องการเครื่องมือเหล่านั้น สามารถซื้อกลับบ้านได้อย่างสะดวก

 

นอกจากนี้ โปรเจคล่าสุด เรากำลังมีการพัฒนา ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A+B  (SARS-CoV2 and Influenza A+B Antigen Combo Rapid Test) ทั้งแบบ professional use สำหรับโรงพยาบาลและแบบ home use สำหรับตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง

ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งเราพบว่ามีผู้ป่วยหลายคนมีอาการคล้ายโควิท แต่เมื่อตรวจด้วย ATK COVID-19 แล้วให้ผล Negative ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นอะไร แยงจมูกเก็บตัวอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นแค่หวัดธรรมดาที่หายได้เอง หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ต้องไปพบแพทย์กินยา ซึ่งเราจะสร้างผลิตภัณฑ์มาแก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชน

ดร.วิโรจน์  ยังได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองมีประสบการณ์กลับจากไปดูงานที่ต่างประเทศ เมื่อกลับมามีอาการป่วยใกล้เคียงกับโควิดแทบทุกประการ แต่ตรวจ ATK COVID-19 ไม่ขึ้น จึงถือโอกาสทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่นี้และพบว่าตรวจพบ Influenza A หลังจากนั้นจึงรีบไปพบแพทย์ และได้ยา Oseltamivir มาเรียบร้อย ถือว่าเป็น Early Treatment จากการทำ Early Screening ผ่านชุดตรวจแบบใหม่ของเรา และยิ่งการตรวจพบโรคเร็วเท่าไหร่ การรักษาด้วยยาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน

คาดว่าหากพัฒนา ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A+B  เสร็จน่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี และสร้างความแตกต่างความน่าสนใจให้มากกว่า ATK ในแบบเดิมๆได้อย่างชัดเจน อีกทั้งเราสามารถสร้างกำไร Gross Margin ได้มากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมสูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับ ATK ในรูปแบบปกติ

 

สุดท้ายนี้ ดร.วิโรจน์ CEO SaintMed ฝากถึงนักลงทุนผู้ถือหุ้นทุกๆท่านด้วยข้อความสั้นๆแต่มีความหมายลึกซึ้ง

“SMD เราให้ความสำคัญกับ Business Model และ ESG ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตแบบสมดุล ยั่งยืน และรุ่งเรืองร่วมกัน เรามุ่งเน้นการแสวงหาเครื่องมือแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์  ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมไปถึงมีอายุยืนยาวมากขึ้น และ/หรือ มีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนทุกท่านที่ได้ลงทุนกับหุ้น SMD ไม่ใช่แค่ได้รับผลดีจากเรื่องกำไรหรือผลตอบแทน แต่ยังเป็นเรื่องของประโยชน์ที่ผู้ป่วย และสังคมรวมทั้งระบบสาธารณะสุขในภาพรวมของไทย จะได้รับตามที่ได้ดังกล่าวมาข้างต้นอีกด้วย”  ดร.วิโรจน์ กล่าว

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0D