TCMC เผยผลประกอบการ Q3/2565 โชว์ผลกำไรเพิ่ม พร้อมปรับกลยุทธ์สู่การเติบโตในอนาคต ตอบโจทย์โมเดลธุรกิจ BCG

73

มิติหุ้น – ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (TCM Corporation) หรือ TCMC  เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2565 (Q3/2022) ทำรายได้กว่า 2 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 16.66 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องตามภาวะตลาดฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface) คำสั่งซื้อคึกคักจากการกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและการจัดการประชุม พร้อมปรับกลยุทธ์ลุยต่อเพื่อการเติบโตในอนาคต ปรับใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดต้นทุนบริษัท สอดรับโมเดลธุรกิจ BCG  

นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  (TCMC)  เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 มีรายได้จากการขายและบริการในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จำนวน 2,037.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,018.50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.95 และมี EBITDA จำนวน 128.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 19.95 และมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ 16.66 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1.79 ล้านบาท เป็นผลมาจากตลาดที่เริ่มฟื้นกลับมาของกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ความพยายามลดต้นทุนและการปรับใช้พลังงานหมุนเวียนของทุกกลุ่ม

การฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตและผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี จากการที่สถานการณ์โควิดคลี่คลาย จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมการประชุมต่าง ๆ ทำให้ลูกค้าพร้อมสั่งวัสดุปูพื้นมากขึ้น ทำให้ธุรกิจในกลุ่มวัสดุตกแต่งพื้นผิวได้รับผลดีจากการฟื้นตัวดังกล่าว แม้จะยังไม่เท่าก่อนเกิดโควิดก็ตาม นอกจากนี้ทางบริษัทก็พยายามเต็มที่ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเงินเฟ้อและราคาต้นทุนที่สูงขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ เน้นการใช้ทรัพย์สินอย่างเต็มประสิทธิภาพ ปรับกลยุทธ์สู่การเติบโตที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การลงทุนติดตั้งแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงาน การใช้เครื่องย้อมที่ช่วยประหยัดการใช้น้ำมากขึ้น  รวมถึงการพัฒนาคน ปรับวัฒนธรรมองค์กร และการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นเพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นางสาวปิยพร กล่าว

เปลี่ยนชื่อกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface) ลุยสู่การเติบโตในอนาคต

จากการเปิดตลาดใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้า ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทได้โอกาสเปลี่ยนชื่อกลุ่มธุรกิจปูพื้น (TCM Flooring) เป็นกลุ่มวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเติบโตต่อไปในอนาคต โดยเน้นการขยายไลน์สินค้าสู่กลุ่มวัสดุตกแต่งพื้นผิวโดยไม่จำกัดแค่พรมหรือวัสดุปูพื้นอีกต่อไป

จากการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจ ทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 648.53 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 71.56 นอกจากนี้จากการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน ทำให้กลุ่มธุรกิจมีอัตราส่วนต้นทุนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนทั้งจากปริมาณคำสั่งซื้อที่เข้ามามากขึ้น และการทำ lean ในส่วนงานผลิต รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ตามโมเดลธุรกิจ BCG (Bio Circular Green Economy) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ที่ช่วยลดต้นทุนค่าไฟได้บางส่วน ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อยอดขายต่ำลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ทำให้กลุ่มธุรกิจมีผลกำไรสุทธิ 54.21 ล้านบาท สูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 356.32

กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) รอการกลับมาของวัตถุดิบ

ในไตรมาสที่ผ่านมา แม้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่จากการขาดแคลนชิพประมวลผลและวัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย กลุ่มธุรกิจมียอดขาย 202.26 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 34.52 โดยมี

อัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 21.78 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ร้อยละ 23.13 เป็นผลจากต้นทุนในด้านราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่สูงต่อเนื่อง แต่จากความพยายามในการปรับตัว กลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารโดยรวมเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อยอดขายลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการปรับโครงสร้างบริหารภายใน ทำให้กลุ่มธุรกิจมีผลกำไรสุทธิ 18.27 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 54.54

ด้านกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) มีรายได้ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.35 เนื่องจากตลาดชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดอังกฤษที่กำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย ทำให้กลุ่มลูกค้าทั่วไประมัดระวังการใช้จ่าย ส่วนลูกค้ากลุ่มระดับบนใช้เวลาช่วงฤดูร้อนท่องเที่ยวมากขึ้นทำให้ยอดขายลดลง  อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากผลกระทบจากค่าขนส่งที่สูงต่อเนื่อง การขาดแคลนโฟม และต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินปอนด์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินยุโรปและสหรัฐ อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยังคงสามารถประคองตัวได้ ถึงแม้จะมียอดขายลดลงบ้าง ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิที่ 55.81 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลกำไรสุทธิ 7.38 ล้านบาท

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 58.25 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 73.82 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด กลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface) มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 31.83 สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 18.73 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 9.93 สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 7.45 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด

ทั้งนี้ สภาพคล่องทางการเงินของกลุ่มบริษัทโดยรวมยังอยู่ในสภาพที่ดี ถึงแม้จะเป็นช่วงที่ยังมีโรคระบาดโควิด-19 โดยมีอัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้าอยู่ที่ 6.64 เท่า ดีขึ้นกว่าปีที่ก่อนซึ่งอยู่ที่ 5.63 เท่า เนื่องจากกลุ่มบริษัทมีความระมัดระวังในการให้เครดิตกับลูกค้ามากขึ้น ทั้งยังมีสภาพคล่องในการชำระหนี้ค่าสินค้าและเป็นการรักษาเครดิตที่ได้รับจาก Supplier และมีการระบายสินค้าคงคลัง เพื่อลดปริมาณการผลิตสินค้าไว้เป็นสต๊อค ทำให้มีอัตราหมุนเวียนสินค้าคงคลังอยู่ที่ 7.24 เท่า สูงกว่าปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 7.12 เท่า อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.22 เท่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 2.17 เท่า เนื่องจากในปี 2565 กลุ่มบริษัทโดยรวมมีการผลิตและจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้นจึงทำให้มีเจ้าหนี้การค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน อัตราตอบแทนผู้ถือหุ้น อัตราตอบแทนจากสินทรัพย์ อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มบริษัทดีขึ้น

“จากการดำเนินงานในเก้าเดือนแรกของปี แสดงให้เห็นว่าบริษัทได้พยายามอย่างหนักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต ท่ามกลางความท้าทายสูงอย่างต่อเนื่อง และเราเชื่อมั่นว่าทีซีเอ็มซีจะสามารถก้าวพ้นผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ได้  นโยบายการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจโดยการบริหารจัดการแบบ lean เพิ่มประสิทธิภาพในทุก ๆ ด้าน เน้นความเข้าใจในลูกค้า สร้างความพร้อมในการเติบโตแบบยั่งยืน  จะเป็นฐานรากของการเติบโตสู่การเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกต่อ ๆ ไป” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของทีซีเอ็มซี กล่าวปิดท้าย

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp