PTTEP “CCS” จิ๊กซอว์ตัวสำคัญเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้บรรลุเป้าหมาย

156

มิติหุ้น – หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ที่หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศเป้าหมายดังกล่าวเพื่อจัดการกับก๊าซเรือนกระจก และแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นวาระของโลกกันนะครับ ประเทศไทยเราเองได้ประกาศเข้าร่วมเจตนารมณ์นี้เช่นกัน โดยตั้งเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนไว้ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608

แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนด้วย ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี โดยได้มีการวางแนวทางในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากทั้งภาคไฟฟ้า ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม  รวมไปถึงการปลูกป่าหลายล้านไร่ เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า จะยังมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คงเหลืออีกหลายสิบล้านตันต่อปีที่ต้องหาวิธีจัดการ ซึ่งหนึ่งในวิธีที่หลายประเทศนำมาใช้อย่างได้ผล ก็คือ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า CCS ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีเดียวที่มีประสิทธิภาพโดดเด่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณมากในปัจจุบัน

ก่อนที่ผมจะเล่าถึงเทคโนโลยี CCS  ผมขออธิบายเกี่ยวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ก่อนนะครับ CO2 นั้นเป็นสารประกอบของคาร์บอนและออกซิเจนที่เราคุ้นเคย และมาจากการหายใจออกของพวกเราทุกคน CO2 จึงไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมหรือผู้ร้ายแต่อย่างใด แต่ถ้ามีปริมาณที่มากเกินไปในชั้นบรรยากาศ ก็จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงคือ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถรักษาสมดุลเชิงปริมาณ ระหว่างการปลดปล่อยและการลดปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศ เพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่กับโลกและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

เพื่อจะตอบคำถามนี้ เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาก่อนว่า CO2 ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั้นมาจากไหน  ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากกิจกรรมการใช้พลังงานของพวกเราทุกคนในทุก ๆ วัน แหล่งพลังงานที่สำคัญของประชาคมโลกปัจจุบัน ก็คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel) ซึ่งประกอบไปด้วยคาร์บอนอะตอมที่นำไปสู่การเกิดและปลดปล่อย CO2 ปลายทางหลังการใช้งานนั่นเอง

แล้วเราจะแก้ปัญหาการปลดปล่อย CO2 ได้อย่างไร เมื่อยังจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานกันอยู่? แน่นอนว่าการเลือกใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เป็นหนึ่งในแนวทางที่ประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ในขณะเดียวกัน เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมองหาแนวทางการกำจัด CO2 โดยตรงอื่น ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะกลางระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานดังกล่าว รวมไปถึงช่วยลดปริมาณ CO2  ที่เคยถูกปลดปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศก่อนหน้านี้อีกด้วย ซึ่งเทคโนโลยี CCS คือจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ได้เริ่มมีการใช้งานจริงแล้วในต่างประเทศ เพื่อลดปริมาณ CO2 โดยตรงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยครับ

CCS คือการดักจับและนำ CO2 ลงไปกักเก็บใต้ดิน โดยมีกระบวนการหลัก 3 ขั้นตอน คือ การดักจับ CO2 จากภาคอุตสาหกรรมด้วยอุปกรณ์แยก CO2 ด้วยสารละลาย หรือ membrane เป็นต้น และปรับความดันให้เหมาะสมสำหรับการขนส่งผ่านทางท่อส่ง ทางเรือ หรือรถบรรทุก เพื่อนำไปกักเก็บอย่างถาวร บนบกหรือนอกชายฝั่ง ในชั้นหินใต้ดินที่มีคุณสมบัติและความลึกเหมาะสม โดยไม่มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

ในขั้นตอนการกักเก็บนั้น ต้องพิจารณาบริเวณที่มีปัจจัยเหมาะสมซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งกักเก็บได้ ทั้งในแง่ของการประเมินความจุของชั้นหินกักเก็บ การประเมินประสิทธิภาพในการกักเก็บภายใต้สภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาใต้ดิน การประเมินความสามารถในการอัด CO2 ในชั้นหินดังกล่าว และยังมีขั้นตอนของการติดตามและเฝ้าสังเกต CO2 ที่ถูกอัดกลับไปแล้วเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่า CCS เปรียบเสมือนแนวทางย้อนกลับของกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะที่นำ CO2  ที่เป็นสารพลอยได้จากการใช้พลังงานฟอสซิล ส่งกลับคืนไปที่ชั้นหินใต้ดินเดิมที่เราเคยนำพลังงานฟอสซิลขึ้นมาใช้แต่แรก หรือชั้นหินอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสม ดังนั้น ความรู้ความเชี่ยวชาญที่ผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลสั่งสมมาจากการทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมไปถึง เครื่องมือเฉพาะทางต่าง ๆ จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดในการศึกษา CCS ได้เป็นอย่างดี

จากข้อมูลของ Global CCS Institute พบว่าปัจจุบันในประเทศต่าง ๆ มีโครงการ CCS ที่ดำเนินการแล้วกว่า 50 โครงการ และอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาอีกกว่า 120 โครงการ เช่น ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

หนึ่งในตัวอย่างโครงการ CCS ขนาดใหญ่ที่ผมขอยกมาพูดถึง คือโครงการ Northern Lights ในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งจะเริ่มใช้งานจริงในปี 2567 โดยที่มีเป้าหมายการดักจับและกักเก็บ CO2 ในช่วงแรกที่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่าหลักหลายแสนไปจนถึงล้านไร่ เลยทีเดียว โครงการนี้ ทางรัฐบาลนอร์เวย์เล็งเห็นถึงศักยภาพในการกักเก็บของประเทศในทะเลเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของโลก จึงมีแนวทางที่จะนำเอาศักยภาพดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในการพัฒนาโครงการ เพื่อเป็นผู้นำในการทำ CCS เพื่อลดการปลดปล่อย CO2 ในนอร์เวย์ และพันธมิตรในสหภาพยุโรปอีกด้วย

ประเทศไทยเองก็มีการริเริ่มศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS เป็นครั้งแรกแล้วที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งวางแผนที่จะนำ CO2  ที่เป็นสารพลอยได้จากกระบวนการปรับปรุงคุณภาพก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งไปอัดกลับสู่ชั้นหินใต้ดินที่เหมาะสม เพื่อการกักเก็บอย่างถาวร  นับเป็นการลดการปลดปล่อย CO2 ตั้งแต่ต้นทางการผลิต และทำให้กระบวนการผลิตพลังงานของประเทศไทยเรานั้นสะอาดยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน โครงการอาทิตย์จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เราสามารถพิสูจน์ทราบทางเทคนิค และสร้างความมั่นใจในการกักเก็บ CO2 ในพื้นที่อ่าวไทย เพื่อขยายผลในระยะยาวต่อไป และตอบโจทย์เป้าหมายระดับประเทศในการลดการปล่อย CO2 ที่วางไว้ได้ ขณะนี้โครงการ CCS ที่แหล่งอาทิตย์ เสร็จสิ้นขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) แล้ว และอยู่ในระหว่างการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ได้จริงในปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณ 700,000 – 1,000,000 ตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก CCS เป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยนำมาใช้ในประเทศไทย การขับเคลื่อน CCS ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายมิติ เช่น ด้านนโยบาย ด้านกฎหมาย และปัจจัยส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น การส่งเสริมจากภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมอื่น ๆ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปได้จริงและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ครับ

 

 

โดย ดร.ญาณเดช ศรีพาณิชย์

ผู้เชี่ยวชาญสาขาธรณีฟิสิกส์ ปตท.สผ.

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp