CIMBT เวทีเศรษฐกิจเอเปค … เพิ่มโอกาสการค้าไทย ดึงดูดการลงทุนสู่ EEC

118

มิติหุ้น – ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพงานประชุมองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก : เอเปค (The Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.65 ได้วางวาระผลักดันการเจรจาใน 3 หัวข้อสำคัญ คือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance.) ซึ่งหมายถึง การเปิดกว้างด้านการค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยงทุกมิติทางเศรษฐกิจ อาทิ การเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ความเชื่อมโยงข้อมูลทางดิจิทัล และการส่งเสริมการเติบโตที่เน้นสร้างความสมดุลโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน  พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายจัดทำเอกสารปฏิญญากรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือBangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy เพื่อให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคให้การรับรอง

เอเปคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดยทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) รวม 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 61% หรือ 2 ใน 3 ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวม 24 ล้านล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 47% ของมูลค่าการค้าโลก หากไทยสามารถผลักดันแผนงานขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific : FTAAP) ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2566 – 2569) ให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคพิจารณาและมีความสนใจร่วมกันที่จะใช้เป็นกรอบความคิดริเริ่มในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ก็จะทำให้เอเปคขยับจากกลุ่มความร่วมมือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการค้ากับบางประเทศ อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา และเม็กซิโก ดังนั้น การมุ่งสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก จึงคาดว่าจะก่อให้เกิดการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนทั้งของภูมิภาคและไทยอย่างกว้างขวางในอนาคต

ประโยชน์ที่คาดว่าไทยในฐานะเจ้าภาพจะได้รับจากการประชุมเอเปค

ประการแรก บทบาทไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้ จะได้แสดงศักยภาพให้นานาชาติได้เห็นถึง 1) ความพร้อมในการจัดงานระดับนานาชาติเพื่อต้อนรับผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่างๆ 2) ศักยภาพของประเทศไทยในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก 3) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทยในการมีจุดยืนไม่เลือกข้าง สร้างหุ้นส่วน ซึ่งประเทศไทยเชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

ประการที่สอง การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากหลักการรวมกลุ่มของเอเปคที่เน้นความร่วมมือในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศรายงานว่าในปี 2564 การค้าระหว่างประเทศของไทยกับกลุ่มเอเปค มีมูลค่า 3.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 71.5% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 1.95แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (72% ของการส่งออกรวม) และนำเข้าจากเอเปค มูลค่า 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (71% ของการนำเข้ารวม) สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2565) มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับกลุ่มเอเปค อยู่ที่ 3.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 68.7% ของการค้าไทยกับโลก

ประการที่สาม เอเปคสนับสนุนแนวทางภูมิภาคนิยมแบบเปิด (Open Regionalism) ซึ่งหมายถึงการให้สิทธิประโยชน์กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปคด้วย จึงเป็นการเพิ่มโอกาสการขยายห่วงโซ่อุปทานของไทยทั้งในและนอกภูมิภาคมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบและฐานการผลิตที่มีความหลากหลายได้มากขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมของไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกและการเป็นฐานการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป เนื่องจากไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนและมีซัพพลายเชนแข็งแกร่ง ความน่าสนใจลงทุนในไทยในฐานะศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของอาเซียนจึงมีอยู่

ประการที่สี่ พื้นที่อีอีซีมีแนวโน้มดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น และต่อยอดให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค (Regional Hub) 5 ด้าน ได้แก่ Tech Hub ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม, BCG Hub ศูนย์กลางการลงทุนเศรษฐกิจ BCG, Talent Hub ศูนย์รวมผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก เช่น ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทักษะสูง, Logistics Hub ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค และ Creative Hub ศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ 2566 – 2570) ของสภาพัฒน์ฯ และยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ของบีโอไอ ได้แก่ ดิจิทัล BCG ไบโอเทค เมดิคัล สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์อัจฉริยะ รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ เมื่อ BCG Economy Model ถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติและเป็นแนวคิด(ธีม) หลักของการประชุมเอเปคครั้งนี้ ก็คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสำคัญกับ BCG มากขึ้นและดึงคนรุ่นใหม่มาร่วมขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ใหม่ของประเทศ อีอีซีจึงน่าจะตอบโจทย์การเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง การมี SMEs ที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ และเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ

ประการที่ห้า ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญภายใต้หัวข้อการสร้างสมดุลรอบด้าน (Balance.) ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) สอดคล้องกับกระแสโลกที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการประชุมเอเปครอบนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน อาทิ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ซึ่งขณะนี้มีเทรนด์ที่น่าจับตามอง คือ อาหารฟังก์ชัน อาหารนวัตกรรมใหม่ อาหารทางการแพทย์ และอาหารอินทรีย์ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจไทย ทำให้ไทยเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่มีระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีรองรับไว้แล้ว

ประการสุดท้าย ก่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาการศึกษา การคลัง วิทยาศาสตร์ ตลอดจนประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมคณะทำงานด้านต่างๆของเอเปค อาทิ โทรคมนาคม การขนส่ง การเกษตร การประมง การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและป่าไม้ การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การพลังงาน และกิจการสตรี อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาความร่วมมือในสาขาต่างๆของเอเปค ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและการปรับตัวด้านต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันจะช่วยเสริมขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง (VUCA) เอเปคยังมีความท้าทายที่ต้องรับมืออีกมาก ประการแรก ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 รวมไปถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ เหล่านี้ อาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจและเป็นปัจจัยขัดขวางการลงทุนในภูมิภาคได้ ประการที่สอง หลากหลายมิติที่เอเปคยังต้องรับมือ ทั้งจากแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี 5G และชิปเซมิคอนดักเตอร์ ภาวะชะงักงันจากการหยุดการผลิตสินค้าหรือปัญหาด้านการขนส่ง ตลอดจนกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ อาทิ ประเทศหลักหันมาให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง การสนับสนุนการย้ายห่วงโซ่การผลิตกลับเข้าประเทศเพื่อลดความเสี่ยง เป็นต้น ประการที่สาม เอเปคอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้เอง จุดยืนของประเทศไทยต้องมั่นคง ไม่เอนเอียงและไม่เลือกข้าง ท่ามกลางโลกแบ่งขั้วอำนาจ

ท่ามกลางวิกฤตและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกและในภูมิภาค ความท้าทายในโลกยังทวีความรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา วิกฤตด้านอาหารและพลังงาน ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้ จำเป็นต้องพร้อมรับมือ เร่งสร้างระบบความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุน แก้ไขกฎระเบียบให้ทันสมัย ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนหรือการเป็นพันธมิตรเพื่อการพัฒนาในทุกระดับ

บทความพิเศษโดยสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp