SCB EIC วิกฤติอาหารโลก (Global food crisis) โอกาสท่ามกลาง ความเสี่ยงในระยะยาวสำหรับไทย

230

มิติหุ้น – วิกฤติอาหารโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆปัจจุบันวิกฤติอาหารโลก (Global food crisis) มีแนวโน้มขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ในระบบนิเวศน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าวิกฤติอาหารโลกที่เกิดขึ้นรอบนี้มีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) การแพร่ระบาดของ COVID-19 2) สงครามรัสเซีย-ยูเครน และ 3) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ในตลาดอาหารโลกในวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารโลกตั้งแต่ระดับ ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ในระยะสั้น ไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกเพิ่มขึ้น

ภายใต้สถานการณ์วิกฤติอาหารโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ในฐานะประเทศผู้ส่งออกผลิตผลทางการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารลำดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในฐานะครัวโลก (Kitchen of the world) มาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายและมีคุณภาพ รวมทั้งยังมีศักยภาพการผลิตในปริมาณที่มากเพียงพอสำหรับป้อนความต้องการบริโภคภายในประเทศและเหลือสำหรับส่งออกอีกด้วย สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญบางสินค้า เช่น น้ำมันปาล์ม ซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงในฐานะสินค้าทดแทนและปรับตัวสูงขึ้นมากหลังจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งมีผลให้อุปทานน้ำมันดอกทานตะวันจากทั้งสองประเทศหายไปทางตลาดโลก

อย่างไรก็ดี วิกฤติอาหารโลกก็กำลังกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาในระยะยาว

แม้ว่าในระยะสั้น ไทยจะได้ร้บอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ความกังวลในเรื่อง Food security กำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ หันมาตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้และมีความพยายามที่จะพึ่งพาตนเอง (Self-reliance) ด้านอาหารมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น โดยได้เริ่มมีการวาง Roadmap ในเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารกันอย่างจริงจังมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มธัญพืช พืชอาหาร ผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในระยะยาว ทั้งในแง่ความต้องการนำเข้าอาหารจากประเทศคู่ค้าของเราที่อาจทยอยปรับลดลง หรือแม้แต่การที่คู่ค้าบางรายอาจพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารจนสามารถผันตัวเองมาเป็นคู่แข่งของไทยในอนาคต

ไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การเติบโตอย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร

อนึ่งความเสี่ยงและความท้าทายที่เกิดขึ้น เป็นตัวเร่งให้ไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัยและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม อาทิ Indoor farming หรือ Vertical farming หรือแม้แต่การมุ่งเน้นไปที่การทำการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision agriculture) เพื่อลดต้นทุนการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) รวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อพัฒนาคุณภาพและรสชาติของผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น รวมถึงการมองหาโอกาสในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารโลกแห่งอนาคต เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารเชิงนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ Value-based economyในอนาคตต่อไป

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp