ธนาคารซิตี้แบงก์ มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 66 ทยอยฟื้นตัวเชิงบวก การท่องเที่ยวคึกคัก – การจ้างงานกลับ และนโยบายภาครัฐเป็นไปตามเป้า

47

มิติหุ้น  –   ธนาคารซิตี้แบงก์ เผยมุมมองการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2566 หลังนำนักลงทุนร่วมประชุมออนไลน์กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทั้งหมดมองเห็นแนวโน้มเชิงบวกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการจ้างงาน แม้ว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นยังคงส่งผลกระทบ พร้อมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว และน่าจะกลับสู่เป้าหมายราวกลางปี 2566 ในขณะที่การชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจทั่วโลกดูเหมือนจะเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566  แต่มองว่าสภาพคล่องภายในประเทศจะเพียงพอเพื่อรองรับทั้งการจัดหาเงินทุนของรัฐบาลและภาคเอกชน นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตมีแนวโน้มที่จะดำเนินการอยู่ภายใต้งบประมาณ ตลอดจนมองว่าการปรับนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดำเนินต่อไปในปีหน้าเช่นกัน

                นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารซิตี้แบงก์ได้นำนักลงทุนเข้าร่วมประชุมออนไลน์กับ ธปท. สศค. และ สบน. เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับมุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย พบว่าภาพรวมทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องไปทิศทางเดียวกันของเศรษฐกิจไทยในระยะกลาง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งซิตี้มองว่า GDP ของไทยจะอยู่ที่ราว 4.3% เทียบกับการคาดการณ์ของ ธปท. และ สศค. ที่คาดว่าจะอยู่ 3.8% เป็นไปตามการเติบโตของ GDP ในปี 2565 ที่อยู่ราว 3.2โดยที่ ธปท. ยังคงมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีซิตี้ยังคงคาดการณ์ว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบาย 0.25ในการประชุม กนง. ครั้งถัดๆไป พร้อมมีมุมมองว่าวัฎจักรนี้จะกินระยะเวลาพอสมควรจนกว่าดอกเบี้ยนโยบายจะไปแตะที่ 2.25ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 สืบเนื่องมาจากการที่ ธปท.มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถทยอยปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ 

นางสาวนลิน กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ธปท. ได้คาดการณ์ GDP ปี 2566 ล่าสุดอยู่ที่ 3.8% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด แต่น้อยกว่าการคาดการณ์ของซิตี้ที่ 4.3% โดยส่วนหนึ่งมาจากการประมาณการด้านการท่องเที่ยวที่อาจจะแตกต่างกัน โดยช่วงปลายเดือนกันยายน ธปท. คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2565 น่าจะอยู่ราว 21 ล้านคน แต่ซิตี้คาดการณ์ไว้ที่ 23 ล้านคน อย่างไรก็ดี ธปท. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อัตราการค้นหา หาข้อมูลที่พักอาศัยล่วงหน้า เดือน และจำนวนเที่ยวบินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นข้อบ่งชี้ในเชิงบวกสำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ซิตี้มองว่าสถานการณ์การทยอยลดความเข้มงวดของมาตรการ Zero-Covid ในจีน อาจทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ในปีหน้าได้เช่นกัน อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยที่เป็นข้อกังวลของการคาดการณ์การเติบโตในปี 2566 เช่น การปรับลดการใช้จ่ายภาคการคลังหลังโควิด และการเติบโตที่ช้าลงของภาคการส่งออก

พร้อมกันนี้ ธปท. ยังคงมองว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยังไม่ได้หยั่งรากฝังลึกในระบบเศรษฐกิจไทย โดยย้ำว่าสภาวะของเงินเฟ้อในประเทศไทยนั้นแตกต่างไปจากเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว โดยยังคงมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะผ่านระดับสูงสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะกลับสู่เป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจจะยังทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในปี 2565 และ 2566 จากการทยอยส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิต ทั้งนี้หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปรับลงมากกว่าที่คาด อาจมีความเสี่ยงขาลงในการคาดการณ์เงินเฟ้อครั้งนี้

ในขณะที่ สศค. มีความคิดเห็นสอดคล้องไปกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งกระทบกับภาคอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกับการคลังและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้สศค.คาดว่าการเติบโตของ GDP ในปี 2565 จะอยู่ที่ 3.4% และในปี 2566 อยู่ที่ 3.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมองว่าอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายระดับสูงในช่วงปีหน้าอีกด้วย

ด้าน สบน. มองว่าคาดว่าเงินทุนที่ต้องระดมต่อปีในช่วงระยะปานกลาง จะยังคงสูงต่อเนื่อง อยู่ที่ราว 2.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบสองเท่าของปี 2562 (ก่อนโควิด) เนื่องด้วยต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ในขณะที่การระดมเงินทุนสำหรับปี 2566 อยู่ที่ราว 2.216 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าในปี 2564 เพราะความต้องการของเงินชดเชยช่วงโควิดลดลงตั้งแต่ 2565 ทำให้ในภาพรวมแม้ว่าจะมีความท้าทายของสภาพการเงินทั่วโลกที่มีการตึงตัว แต่สภาพคล่องของการเงินในประเทศยังคงอยู่ในระดับดี สามารถรองรับแผนการกู้ของสบน.ได้ ซึ่งในปี 2566 ยังคงมีการหาแหล่งทุนที่หลากหลายเพื่อบริหารต้นทุน รวมถึงรักษาระดับความเสี่ยงของหนี้สาธารณะและคงระดับหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำต่อไป นางสาวนลิน กล่าวทิ้งท้าย

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp