ภาคประชาชนบุก! กดดันผู้ว่า กกท. เปิดเผย MOU ลิขสิทธิ์บอลโลกอย่างโปร่งใส ลบครหาเอื้อประโยชน์ทรู

48

มิติหุ้น – วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2565) ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เครือข่ายประชาชน ภายใต้ชื่อกลุ่ม “คนรักฟุตบอลโลก” นับ 20 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อร้องขอให้เปิดเผยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับ กกท. , รายละเอียดของสัญญาที่ กกท.ได้ทำกับ FIFA รวมถึงสัญญาที่ กกท.มอบสิทธิ์ให้เอกชนรายหนึ่ง ต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงรายละเอียดในประเด็นที่กำลังเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้

นายศรรัก มาลัยทอง ตัวแทนเครือข่ายประชาชน กลุ่ม “คนรักฟุตบอลโลก” กล่าวว่า กกท.กับ สำนักงาน กสทช. ต่างเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการ การถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ให้ประชาชนได้รับชมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ผ่านทุกแพลตฟอร์ม โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ตามเจตนารมณ์ที่ภาครัฐได้ระบุไว้ถึงเหตุผลในการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์กับ FIFA ในช่วงก่อนหน้านี้ ดังนั้นการที่ กกท. ยินยอมให้กลุ่มทรู ได้สิทธิ ถ่ายทอดสดจำนวน 32 นัดจากทั้งหมด 64 นัด ถือเป็นการมอบ “สิทธิ” พิเศษเหนือกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั้งที่ไม่มีอำนาจ อีกทั้งถือเป็นการเอื้อประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด ทำให้ประชาชนคนไทยนับล้านคน ได้รับความเสียหายจากการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จึงถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ

ดังนั้น กลุ่มเครือข่ายฯ จึงขอให้ กกท. พิจารณาและชี้แจงประเด็นต่างๆ โดยเร่งด่วน ดังนี้

  1. ขอให้ กกท. ชี้แจงรายละเอียดข้อตกลง MOU ระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับ กกท. , รายละเอียดของสัญญาที่ กกท.ได้ทำสัญญากับ FIFA รวมถึงสัญญาอื่นใดที่ กกท.ทำสัญญามอบสิทธิให้เอกชนรายอื่นทั้งหมด ต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใส่ในการปฏิบัติหน้าที่
  2. การที่ สำนักงาน กสทช. ได้ลงนาม MOU กับการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ “กกท.” โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อให้ กกท.นำงบประมาณดังกล่าวไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก (FIFA World Cup Final 2022) ตามที่ กกท.ร้องขอ ย่อมถือได้ว่าลิขสิทธิ์รายการนี้ ยังคงเป็นของรัฐ ซึ่ง กกท.ไม่สามารถนำสิทธิ์ไปมอบให้เอกชนรายใดรายหนึ่งดำเนินการบริหารจัดการที่เอื้อประโยชน์ของตนต่อได้  เพราะนอกจากจะส่อเจตนารมณ์ในเชิงผลประโยชน์ต่อเอกชนรายดังกล่าวแล้ว ยังถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป Must Carry ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอีกด้วย
  3. การใช้งบประมาณสนับสนุน การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ เป็นงบประมาณของภาครัฐที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น กกท. ไม่ควรเอื้อให้เอกชนรายใดรายหนึ่งนำสิทธิไปธุรกิจ เพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่ต้องสามารถรับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของ สำนักงาน กสทช.ที่กำหนดไว้
  4. การที่กลุ่มบริษัททรู ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ใบอนุญาตฯ ได้อ้างสิทธิ์ของรายการนี้ ถือเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนประกาศ กสทช. และใช้อำนาจศาลในการปิดกั้นการเข้าถึงการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก ถือเป็นการจงใจละเมิดการปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตและประกาศ กสทช. หรือไม่
  5. การที่กลุ่มบริษัททรู ได้สิทธิ์เลือกถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกเฉพาะคู่สำคัญ ถือเป็นการดำเนินการผิดกระบวนการ โดยใช้สิทธิเหนืออำนาจรัฐ
  6. ขอให้ กกท. พิจารณาแนวทางการเยียวยาประชาชนผู้ที่ต้องการรับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 แต่ไม่สามารถรับชมได้ จากผลกระทบของการทำสัญญา MOU ระหว่าง กสทช. กับ กกท. และการดำเนินการโดยมิชอบของ กกท. ที่ได้ดำเนินการทำสัญญากับเอกชน โดยไม่ผ่านระเบียบกระบวนการทางราชการ
  7. ขอให้ กกท. ในฐานะผู้ถือสิทธิรายการนี้ กำหนดให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ภายใต้การกำกับของ กสทช. ทุกประเภท สามารถนำรายการการถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ให้ประชาชนสามารถรับชมได้ทุกคู่การแข่งขัน ได้ฟรี อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

ท้ายที่สุด กลุ่มเครือข่ายฯ เห็นควรให้ดำเนินคดีอาญากับ กทท., สำนักงาน กสทช. รวมถึง ทรูตามความผิดที่กล่าวถึงข้างต้น เพื่อเป็นฐานในการต่อสู้คดีแพ่งต่อไป นอกจากนั้น จะฟ้องเพื่อให้เพิกถอนข้อตกลง ที่ กกท. มอบลิขสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวให้กับกลุ่มทรู ต่อศาลปกครองด้วย

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp