มิติหุ้น – สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA รายงานข้อมูลสถาบันการเงินที่ได้รับการคุ้มครอง ปัจจุบันมีจำนวน 32 แห่ง ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติการขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนของบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากปรับนโยบายการดำเนินธุรกิจ และการขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารเอเอ็นแซด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เนื่องจากการปรับเปลี่ยนการประกอบธุรกิจในประเทศไทยจาก Subsidiary bank ไปเป็น Representative Office (สำนักงานผู้แทน) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2565 และวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามระบบสถาบันการเงินภาพรวมยังคงมีความเข้มแข็งภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทางด้านกองทุนคุ้มครองเงินฝากนั้นไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ กองทุนมีความเข้มแข็งและสภาพคล่องที่ดี และสถาบันคุ้มครองเงินฝากยังคงเดินหน้าเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝากเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันแก่ผู้ฝากและประชาชนทั่วประเทศ
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า “ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย อนุมัติการขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคาร เอเอ็นแซด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เหตุผลหลักๆ เป็นเรื่องแผนดำเนินการทางธุรกิจของสถาบันการเงินเอง ทำให้ปัจจุบันสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 32 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่ง สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 1 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ขอให้ความมั่นใจกับผู้ฝากเงินว่า กรณีการคืนใบอนุญาตดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามธุรกิจปกติ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบคุ้มครองเงินฝาก โดยเฉพาะเสถียรภาพของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 1.34 แสนล้านบาท ซึ่งมีความเข้มแข้งและมีสภาพคล่องที่เหมาะสม ทาง สถาบันฯ ยังคงมุ่งมั่นสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการออมเงิน การคุ้มครองเงินฝากให้แก่ประชาชนคนไทยอยู่เสมอ เป็นความพร้อมสำหรับการสร้างรากฐานความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวต่อไป”
ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองมีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน โดยมีวงเงินคุ้มครองจำนวน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน และต้องเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น ทั้งนี้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท ยังคงมีสัดส่วนที่ครอบคลุมผู้ฝากกว่า 98% ที่เป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ โดยหากเกิดเหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต DPA จะทำหน้าที่จ่ายเงินแก่ผู้ฝากเงิน โดยใช้เงินจากกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน และจะทำการจ่ายภายใน 30 วัน ผ่านการโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ผูกกับหมายเลขประจำตัวประชาชนหรือการจ่ายด้วยเช็คซึ่งจะถูกส่งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านที่ผู้ฝากเคยให้ข้อมูลไว้กับสถาบันการเงินนั้นๆ
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp