มิติหุ้น – ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ Nymex WTI เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เหรียญ จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากตลาดคาดจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกจะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงสนับสนุนจาก รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนซื้อน้ำมันดิบเติมเข้าคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 3 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ก.พ. 66 นับเป็นการซื้อเพื่อเก็บเป็น SPR ครั้งแรกหลังระบายน้ำมันดิบปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล ตั้งแต่เดือน มี.ค. 65
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจยังคงกดดันราคาน้ำมัน โดยล่าสุด S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและการบริการ (Composite Purchasing Managers’ Index: PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 65 ลดลงจากเดือนก่อน 1.8 จุด มาอยู่ที่ 44.6 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หดตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และ PMI ต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว
สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวระหว่าง $78-83/BBL ประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่ การตอบโต้ของรัสเซียต่อการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 ของกลุ่ม G7 พร้อมด้วยออสเตรเลียและสหภาพยุโรป (EU) โดยรัฐบาลรัสเซียเผยว่าได้ข้อสรุปมาตรการตอบโต้ชาติตะวันตก และเตรียมที่จะเปิดเผยรายละเอียดภายในสัปดาห์นี้ และกล่าวย้ำว่ารัสเซียจะไม่จัดส่งน้ำมันให้กับประเทศที่ดำเนินการตามข้อตกลง Price Cap
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Reuters รายงานท่อ Keystone (622 KBD) ส่วนที่ขนส่งน้ำมันจากเมือง Hardisty ในรัฐ Alberta ของแคนาดา ไปยังโรงกลั่นในรัฐ Illinois ของสหรัฐฯ กลับมาเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 65 ส่วนท่อจากเมือง Steele City รัฐ Nebraska ไปจนถึงคลังเก็บน้ำมันที่เมือง Cushing รัฐ Oklahoma ยังคงปิดดำเนินการ
- รายงานฉบับเดือน ธ.ค. 65 ของ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 26 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 99.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 14,000 บาร์เรลต่อวัน) และในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน มาอยู่ที่ 101.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 10,000 บาร์เรลต่อวัน)
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในไตรมาส 4/65 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 260,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 12.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ 4.25-4.5% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 14-15 ธ.ค. 65 โดย Fed คาดว่าจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 5.0-5.25% ในปี 66 และปรับลดลงสู่ระดับ 4.1% และ 3.1% ในปี 67-68 ตามลำดับ (การประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 66)
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp