‘กลุ่มยานยนต์’ฟื้นชัด! ดัก 5 หุ้นเด่นเข้าพอร์ต

4738

มิติหุ้น-สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่าหลังได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 65 (ม.ค.-พ.ย.65) มียอดการผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ 1,724,909 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.95% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกอยู่ที่ 951,551 คัน คิดเป็น 55.17% ของยอดการผลิตทั้งหมด และการผลิตเพื่อจำหน่ายอยู่ที่ 773,358 คัน คิดเป็น 44.83% ของยอดการผลิตทั้งหมด ทำให้การประเมินการผลิตรถยนต์ตลอดทั้งปี 65 ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ระดับ 1.75 ล้านคัน และมีโอกาสสูงที่จะทะลุ 1.8 ล้านคัน

ดังนั้นทั้งปี 66 คาดว่าการผลิตรถยนต์จะอยู่ในระดับ 1.85-1.95 ล้านคัน รวมถึงคิดว่าจะมียอดจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในประเทศอยู่ที่ราว 25,000-35,000 คัน จากที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 กว่าคัน ซึ่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในครั้งนี้ ได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ และแนวโน้มตลาดของผู้ผลิตที่มีให้เลือกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 67 จะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการวิเคราะห์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า (2569) ราคารถ EV จะเท่ากับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน

สำหรับปัจจัยเชิงบวกข้างต้นทำให้ “นักวิเคราะห์หลักทรัพย์” ต่างให้น้ำหนักเข้าลงทุนใน “หุ้นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์” จากปัจจัยหนุนในปี 66 ยอดผลิตรถยนต์แตะ 1.85-1.95 ล้านคัน, ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลาย, จีนเปิดประเทศ, เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว, ภาครัฐเปิดประเทศที่ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ล้วนสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์

คัด 5 หุ้นเด่นกลุ่มยานยนต์

โดย “บล.ดาโอ” ชู SAT ให้เป็นหุ้นเด่น จากแผนการขยาย “ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (สามล้อไฟฟ้า, E Bus)” ซึ่งตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จะคิดเป็น 10% ภายใน 3 ปีข้างหน้า (66-68) สำหรับทั้งปี 66 คาดกำไรปกติทำนิวไฮที่ 1.04 พันล้านบาท โต 11% จากปีก่อนที่ 952.65 ล้านบาท จากยอดผลิตรถยนต์ที่จะยังเติบโตราว 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แนะนำ “ซื้อ” เป้า 24.50 บาท

ด้าน “บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)” ยกให้ AH เป็นหุ้น Top pick โดยปี 66 คาดรายได้ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้โมเดล Global เต็มปี สถานการณ์ขาดแคลนชิพเริ่มคลี่คลาย รวมถึงบริษัทมีแผนรุก EV โดยปี 66 เริ่มผลิตให้ “เกรทวอลล์ มอเตอร์” และมีโอกาสเจรจารายใหม่ๆอีกหลายราย ไม่เพียงเท่านั้นยังคงมองว่ามีการ Upside risk ในการปรับเพิ่มประมาณการ จากประเด็นบวกที่ฝ่ายวิจัยยังไม่รวมในประมาณการ ได้แก่ แผนตั้งโรงงานใหม่ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ CLMV แนะนำ “ซื้อ” เป้าหมาย  37.60 บาท

ส่วน “บล.เมย์แบงก์” เพิ่มน้ำหนักเข้าลงทุนในหุ้น STANLY เพราะคาดว่ายอดขายทั้งปี 65-66 (เม.ย.65-มี.ค.66) ที่ 14,533 ล้านบาท เติบโต 7% และคาดจะมีกำไรปกติ 1,627 ล้านบาท เติบโต 8% ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตตามอุตสาหกรรมยานยนต์จากการที่เป็นผู้นำอุปกรณ์รถยนต์ (ส่วนแบ่งตลาด 50-55%) และรถจักรยานยนต์ (ส่วนแบ่งตลาด 90-95%) รวมถึงได้รับคำสั่งซื้อใหม่ของรถโมเดลที่จะเปิดตัวในอนาคต แนะ “ซื้อ” เป้าหมาย 222 บาท

HANA- KCE ขยายกำลังผลิต ดันกำไรนิวไฮ

ขณะที่ “บล.ทิสโก้” แนะนำ “ซื้อ” HANA ให้เป้าหมาย 60 บาท แม้ช่วง Q4/65 เศรษฐกิจที่ดูอ่อนแอ แต่คำสั่งซื้อของ HANA ยังคงเดิมเพราะได้ปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ ด้านการผลิต PMS รอบแรกเป็นไปตามคาด และการผลิต SiC/MOSFET รุ่นใหม่ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าในเกาหลีใต้ ทำให้คาดว่า HANA จะมีคำสั่งซื้อจาก Si, SiC/MOSFET และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเท่าตัวใน Q4/66 ดังนั้นปี 65-66 คาดกำไรสุทธิที่ 2.4 พันล้านบาท และ 2.6 พันล้านบาท ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน “บล.เอเซีย พลัส” เลือกให้ HANA เป็นดาวเด่น โดยประเมินกำไรสุทธิปี 66 ไว้ที่ 2.6 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 47% จากปีก่อน คาดว่าธุรกิจของ HANA จะฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้รายได้มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 10% จากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการทยอยได้คำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แนะ “ซื้อ”  ราคาเป้า 52 บาท

อย่างไรก็ตาม ยังคง แนะนำ “ซื้อ” หุ้น KCE เป้าหมาย 60 บาท โดยประเมินกำไรสุทธิในปี 65-66 จะเติบโต 2.9% YoY และ 26.2% YoY จากแนวโน้มรายได้รวมปี 65-66 เติบโต 28.7% YoY และ 12.1% YoY ตามลำดับ เนื่องจากได้ลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่าเพิ่มคำสั่งซื้อมากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมสร้างโรงงานใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ กำลังการผลิต 1 ล้านตร.ฟุตต่อเดือน ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 31% จากปัจจุบัน เป็น 4.2 ล้านตร.ฟุตต่อเดือน โดยใช้เงินลงทุนราว 8.1 พันล้านบาท คาดจะเริ่มก่อสร้างในงวด 1Q/66 ใช้เวลาก่อสร้างราว 18-20 เดือน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในงวด 2H67

พร้อมกันนี้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการ รวมถึงเงินอุดหนุนและการลดภาษีเพื่อหนุนการเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สอดคล้องกับนโยบาย 30@30 ที่เป็นแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ ด้วยการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2573

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon