ทริสเรทติ้ง ปรับเพิ่มอันดับเครดิต GULF จาก A เป็น A+ ระดับก่อหนี้พ้นจุดสูงสุด คาดรายได้รวมปี 65 ทะยาน 1 แสนลบ.

275

มิติหุ้น-ทริสเรทติ้งได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ GULF หรือบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ มาอยู่ที่ระดับ “A+” จากระดับ  “A” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มาอยู่ที่ระดับ “A” จากระดับ ”A-“ พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”

การปรับเพิ่มเครดิตดังกล่าวสะท้อนการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกระแสเงินสดของบริษัทจากการเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ(IPP) ของบริษัท กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันจากภาระหนี้

ทั้งนี้อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตขององค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในสิทธิเรียกร้องของหุ้นกู้เมื่อเทียบกับภาระเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัท

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยตลอดจดการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับกฟผ.

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ลดทอนลงจากความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการลงทุนในต่างประเทศและการขยายธุรกิจที่รวดเร็วของบริษัท

ทริสฯคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้ากระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วงเติบโต โดยโรงไฟฟ้าIPP ขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งที่มีกำลังการผลิตติดตั้งเมื่อคิดตามสัดส่วนการลงทุนรวมกันประมาณ 3,700 MWนั้นจะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง ปัจจุบันกำลังการผลิตจำนวนครึ่งหนึ่งได้จ่ายไฟแล้ว และเชื่อว่าส่วนที่เหลือจะเปิดดำเนินการในช่วงปี 66-67 ตามกำหนด

นอกจากนี้กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,700 MW ในอีก 3 ปีข้างหน้า จาก 4,966 MW ณ ธ.ค. 65 จะทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนลบ.ในปี 68 จากประมาณ 1 แสนลบ.ในปี 65 ขณะที่อีบิทดา จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 หมื่นลบ. ในปี 68 จาก 3 หมื่นลบ.ในปี 65

ทริสฯคาดว่าบริษัทจะได้รับปันผลจำนวน 4-6 พันลบ.จาก INTUCH ช่วงระหว่างปี 66-68

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว โดยแม้บริษัทจะยังคงมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วแต่กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นก็ น่าจะช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับเกือบ 10 เท่าในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่างบลงทุนรวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2-4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568

ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะควบคุมระดับการก่อหนี้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทเพิ่งลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีลงเหลือ 25% จาก 50% ซึ่งเงินสดที่ได้รับจากการขายหุ้นจํานวน 305 ล้านยูโรหรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทนั้นก็ช่วยให้บริษัทบริหารจัดการภาระหนี้สินได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บริษัทขยายการลงทุนอย่างรวดเร็ว และยังทําให้บริษัทไม่ต้องนับรวมหนี้ของโรงไฟฟ้าดังกล่าวจํานวน 541 ล้านยูโรหรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเข้ามาในงบการเงินอีกด้วย ทั้งนี้ เงินลงทุนต่าง ๆ จํานวนมากของบริษัทช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินเนื่องจากบริษัทสามารถขายเงินลงทุนบางส่วนเพื่อลดภาระหนี้ในกรณีที่จําเป็น

ณ เดือนกันยายน 2565 หนี้สินรวมของบริษัทมีจํานวนทั้งสิ้นประมาณ 2.63 แสนล้านบาทซึ่งจํานวน 1.59 แสนล้านบาทนั้นเป็นหนี้ที่มีลําดับในการได้รับชําระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทําให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลําดับในการได้รับชําระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 60% และส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลําดับในการได้รับชําระคืนก่อนอย่างมีนัยสําคัญเมื่อพิจารณาจากลําดับสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท

บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นําในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีกําลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้ารวมกันที่ขนาด 8,622 เมกะวัตต์ซึ่งจํานวน 4,966 เมกะวัตต์นั้นมาจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดําเนินงานแล้ว

ในขณะที่ตามกําหนดการแล้วนั้นโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาจะแล้วเสร็จภายในปี 2570

กําลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์การเติบโตและโครงการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนา โดยบริษัทในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นําด้านการผลิตไฟฟ้านั้นอยู่ในสถานะที่จะได้ประโยชน์จากเป้าหมายของภาครัฐที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (CarbonNeutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Greenhouse Gas Emission) โดยมีโควตาในการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งแสวงหาโอกาสในการซื้อกิจการต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มีสัดส่วนการลงทุนในพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมการซื้อโครงการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในประมาณการในครั้งนี้

การลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีโดยบริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าจํานวนมากกว่า 30 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถือเป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทโดยคิดเป็นสัดส่วน 93% ของกําลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดหรืออยู่ที่ขนาด 8,057 เมกะวัตต์ ในขณะที่กําลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 565 เมกะวัตต์มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลมหลายแห่งในประเทศเวียดนาม (229 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังลม 1 แห่งในประเทศเยอรมนี (116 เมกะวัตต์) รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังลมและโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอีกหลายแห่งในประเทศไทย (221 เมกะวัตต์) บริษัทมีเป้าหมายที่จะ

เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 30% ของกําลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2573 จากประมาณ 8% ในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นบริษัทจะต้องมีกําลังการผลิตเพิ่มเติมอีกประมาณ 5,000 เมกะวัตต์จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้

บริษัทเพิ่งซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ใน บริษัท กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จํากัด(มหาชน) (GUNKUL) ซึ่งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังลมขนาดกําลังการผลิต 178 เมกะวัตต์ในประเทศไทย

 

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/