มิติหุ้น – แปซิฟิกไพพ์ เปิดแผนปี 2566 จัดเซ็กเมนต์ลูกค้าเพิ่มความชัดเจน สานเป้าหมายลูกค้ารายใหญ่เติบโตครองส่วนแบ่งในระยะยาว เตรียมเพิ่มสินค้าให้สนองความต้องการตลาดยุคใหม่ที่คำนึงถึงมาตรฐานและสิ่งแวดล้อม
นางเอื้อมพร ปัญญาใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 กลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทจะเพิ่มความแหลมคม และชัดเจนมากขึ้นเพื่อก้าวไปสู่ Total Steel Solutions ใน 3 ปีตามแผนที่วางไว้
ส่วนแรกคือ “Sales & Marketing” (ทีมขายและการตลาด) บริษัทได้จัดแบ่งกลุ่มตลาดชัดเจนขึ้น เป็นกลุ่มก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มทั่วไปซึ่งเป็นสินค้า Mass มีลูกค้าเป็นช่างต่อเติม ผู้รับเหมา สินค้ากลุ่มนี้อยู่ในร้านค้าเหล็ก-อุปกรณ์ก่อสร้าง
“ในปีที่ผ่านมาตลาดส่วนใหญ่ ยังคงเป็นการซื้อมาขายไป งานต่อเติมขนาดเล็ก ในขณะที่โครงการขนาดใหญ่เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า แต่เชื่อว่าระยะยาวแล้วโครงการขนาดใหญ่จะเติบโตจากแรงขับเคลื่อนของธุรกิจขนาดใหญ่ ตามสถานะที่ธุรกิจขนาดใหญ่จะยิ่งใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ธุรกิจขนาดเล็กจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจขนาดใหญ่จากการควบรวมกิจการ”
ทั้งนี้ จากแนวโน้มของธุรกิจที่มีทั้งร้านค้ารายย่อย โมเดิร์นเทรด และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การทำธุรกิจของบริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนรองรับอนาคต โดยในปี 2566 ทีมขายและการตลาดจะวางแนวทางการทำงานที่ชัดเจนขึ้น ด้วยการจัดกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ปลายทางได้จริง และแบ่งทีมทำงานให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งทีมต้องมีทักษะที่จำเป็นตรงตามกลุ่มลูกค้า พูดคุยภาษาเดียวกับลูกค้า ไม่ใช่ใช้ทักษะเดียวกันกับทุกกลุ่มลูกค้าเช่นในอดีต
สินค้าใหม่มุ่งเน้นด้านมาตรฐาน
ส่วนที่สอง “สินค้า” ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้า ที่ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นในการยกระดับอุตสาหกรรม ด้วยการผลิต และผลักดันสินค้าคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมาตรฐาน มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยตรงของอาคารประเภทต่างๆ นอกจากนี้ยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความเป็นกลางทางด้านคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ESG (Environmental, Social and Governance: ESG)
“การสร้างบ้านยุคใหม่จะคำนึงถึงเรื่องการลดความสูญเสีย ดังนั้น การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างจะเป็น Prefab (Prefabricated Building) โดยการผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นให้สำเร็จจากโรงงานมาก่อน ซึ่งเหล็กโมดูลาร์ หรือเหล็กที่มีลักษณะสำเร็จรูปจะตอบโจทย์ดังกล่าวมากกว่าโครงสร้างเหล็กปกติ และสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทเป็นอย่างดี”
ทั้งนี้ แนวคิดการมีสินค้าที่มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ทำให้บริษัทสามารถทำการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น ส่งผลให้ตอกย้ำความชัดเจนด้าน Total Steel Solutions อีกด้วย
ส่วนที่สาม “โรงงานผลิต” ในฐานะที่เป็นการผลิตปริมาณมาก (Mass Production) ยังคงต้องทำระบบ LEAN Manufacturing เพื่อลดความสูญเสียของผู้ผลิตเหล็กปลายน้ำ ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้าช่วยด้านการผลิตบางส่วนเป็นกลยุทธ์หลังบ้าน (โรงงาน) เพื่อควบคุมการผลิตให้ได้ประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด
ในช่วง 1-2 ปีนี้ จะยังไม่ขยายกำลังการผลิต แต่จะขับเคลื่อนตลาดด้วยสินค้าในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
เจรจาพันธมิตรโลจิสติกส์
ส่วนที่สี่ “ซัพพลายเชน” นับเป็นส่วนสำคัญในปี 2566 โดยการทำให้กระบวนการจากวัตถุดิบสู่โรงงานจนส่งถึงมือลูกค้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากเดิมมองลูกค้าเป็นหนึ่งเดียว การทำซัพพลายเชนมีแบบเดียว แต่เมื่อแตกกลุ่มลูกค้าใหม่ มีลูกค้ากี่กลุ่มก็จะต้องมีซัพพลายเชนจำนวนเท่ากับกลุ่มลูกค้า เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าในแต่ละกลุ่มตั้งแต่เรื่องแพ็คเก็จจิ้ง ช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนวิธีการจัดส่ง
บริษัทวางแผนหาจุดที่เหมาะสมที่สุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Optimization) ให้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์และค้นหาว่าจะเป็นพันธมิตรกับใครได้บ้าง เพื่อนำตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้ลูกค้าได้มาก
นอกจากนี้ บริษัทยังได้แต่งตั้งทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ในระดับ C-level ขึ้นมาร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับแผนและทิศทางการดำเนินธุรกิจของแปซิฟิกไพพ์ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากนับจากนี้ไป
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon