เปิดมาตรการเฉพาะ กสทช. ห้ามทรูดีแทครวมคลื่นให้บริการ ส่อ ผิด พ.ร.บ. คลื่นฯ

332

คลื่นความถี่ ไม่สามารถรวมกันได้ ตามที่มาตรการเฉพาะดีลควบรวมที่ออกโดย กสทช. ระบุ หากทรูดีแทค รวมคลื่นกันเพื่อให้บริการ ถือว่าเป็นความผิด พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 “ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่ กันมิได้”

 

ความคืบหน้าจากกรณีควบรวมกันสองบริษัทโทรคมนาคมไทย ที่มีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทรูและดีแทค แจ้งว่า ทั้งสองบริษัทได้มีมติให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นร่วมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อพิจารณาและอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัท ซึ่งมีการพิจารณาและอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งหลังจากการประกาศชื่อใหม่ แต่ไม่ใหม่ ดังกล่าว สร้างความสับสนและความกังวลให้กับผู้ใช้บริการดีแทค เนื่องจากไม่ได้เป็นการตั้งชื่อใหม่ แต่เลือกใช้ชื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งแทน

เรื่องชื่อใหม่หรือโครงสร้างผู้ถือหุ้นนั้น ยังไม่น่าห่วง มากเท่ากับการใช้บริการของลูกค้าหลังจากควบรวมกัน  ลูกค้าดีแทคจะใช้งานได้ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรต่อไป

 

“มาตรการดีลควบรวม ระบุ รวมคลื่นความถี่ไม่ได้”

กสทช.ระบุชัดในมาตรการหลังเคาะดีลควบรวม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ว่าการถือครองคลื่นความถี่ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับใช้งานคลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด (การใช้คลื่นความถี่ตามมาตรา 41 วรรคสี่ มาตรา 44/1 และมาตรา 44/3 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

“มาตรา ๔๔/๓ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่ กันมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. และเสียค่าธรรมเนียมการโอน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และอัตราค่าธรรมเนียมในการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ความถี่ ให้เป็นไปตามที่กสทช. ประกาศกำหนด เมื่อ กสทช.อนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ที่ใช้คลื่นความถี่นั้นของผู้โอนสิ้นสุดลงและให้กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ กระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม แล้วแต่กรณีให้แก่ผู้รับโอนตามลักษณะ ประเภท และขอบเขตของใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมของผู้โอนดังกล่าว”

“ลูกค้าทรูและดีแทค ใช้งานคลื่นในปริมาณเท่าเดิม”

อธิบายเพิ่มเติมคือ ใบอนุญาตที่แต่ละบริษัทเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่มานั้น ล้วนแล้วเป็นสิทธิเฉพาะของบริษัท ไม่สามารถถ่ายโอนหรือรวมคลื่นความถี่กันได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. โดยในกรณีนี้ ทั้ง ทรูและดีแทค ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด การที่ลูกค้าของทั้งสองบริษัทเข้าใจว่า รวมคลื่นกันแล้วจะมีคลื่นความถี่มากขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด และผู้รวมธุรกิจ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผิด พ.ร.บ.ที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ฉะนั้น ลูกค้าของทั้งสองบริษัท ก็จะต้องดำเนินการใช้งานตามคลื่นความถี่ของเครือข่าย ในปริมาณที่เท่าเดิม มิได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด….

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาที่ดีแทคมีการประชาสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนที่กสทช จะมีมติรับทราบควบรวมเสียอีก ว่า ดีแทคจะทำการรวมคลื่นความถี่ในทุกย่านและเสาสัญญาณกับทรู แล้วจะทำให้ลูกค้าของดีแทคใช้งานครอบคลุมเพิ่มทั้ง 5G,4G ทั่วประเทศ อาจจะสิ่งที่ขัดแย้งกับมาตรการเฉพาะของกสทช และ ขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือไม่

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/