BBIK ราคาแรง Blue Ocean ในสายตา นลท.

831

BBIK หรือ บมจ. บลูบิค กรุ๊ป หลังจากเข้าเทรด mai  เมื่อเดือน ก.ย. 64 ราคาหุ้นได้พุ่งทะยานด้วยความเร็วระดับไฮสปีด ทำนิวไฮที่ 143.50 บาท เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 65  หรือให้ผลอตอบแทน 697.22% จากราคา IPO ที่ 18 บาท ระดับ P/E เกิน 100 เท่าภายในระยะเวลาไม่ถึงปี

ถ้าถามว่าทำไมนักลงทุนถึงได้ให้ค่ากับ BBIK มากขนาดนี้ ต้องตอบว่า เป็นเพราะตั้งความหวังกับตัวธุรกิจที่จะเป็นธุรกิจแห่งโลกอนาคต ยิ่งช่วงโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตผู้คนหันเข้าหาโลกออนไลน์มากขึ้น รวมถึงกระแส Disruption ที่ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวตามโลกให้ทัน ถือว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็น  Blue Ocean  เต็มไปด้วยโอกาสการเติบโตในยุคดิจิทัล

BBIK ดำเนินธุรกิจคอนซัลต์ด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เจ้าแรกของไทย ทำธุรกิจเกี่ยวกับการเป็นที่ปรึกษาด้านโซลูชั่น การวางกลยุทธ์ให้กับองค์ไปจนถึงทำเทคโนโลยีตั้งแต่ซอฟต์แวร์ การวางโครงสร้างพื้นฐานระบบหน้าบ้าน ระบบหลังบ้าน อาทิ โมบายแบงก์กิ้ง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลัก ๆ จะเป็นประเภทธุรกิจการเงิน ประกันภัย โรงพยาบาล ค้าปลีก โรงแรม คู่แข่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย

ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปี 65 ของ BBIK เป็นตัวละท้อนถึงการเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยมีรายได้ 425 ลบ. เติบโต 115% และมีกำไรสุทธิ 100 ลบ. เพิ่มขึ้น 119% และคาดว่าปี 65 จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 500 – 600 ลบ. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิมคาดว่าจะโต 70% ด้วยพนักงานเพียง 170 คนในช่วงต้นปี ก่อนจะเพิ่มเป็น 350 ในช่วงปลายปี ซึ่ง “คน” ถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตัวธุรกิจให้มีรายได้และกำไร

“พชร อารยะการกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BBIK เผยว่า  จากการเก็บข้อมูลพบว่า พนักงาน 1 คน จะสร้างรายได้ให้ราว 2.5- 3 ลบ. จึงเป็นเหตุผลที่ใช้งบลงทุนราว 1 พันลบ. ในการเข้าซื้อกิจการ “Innoviz Solution” และ “VVD” เพื่อทำให้จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 800 คน ในปี 66 และถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผลประกอบโตขึ้นเป็นเท่าตัว และคาดว่าอีก 5 ปี ต่อจากนี้ จะยังรักษาการเติบโตระดับนี้ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

การที่ “คน” เป็นปัจจัยหลักผลักดันการเติบโต  ในทางกลับกันก็เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย เนื่องจากอาจเกิดการสมองไหลออกจากบริษัทได้ ทาง BBIK จึงได้แก้ปัญหาโดยการให้พนักงานมีส่วนร่วมในการถือหุ้น  ผ่าน“โครงการร่วมลงทุนระหว่างนายจ้างและลูกจ้างของบริษัทและบริษัทย่อย (EJIP) ” เป็นการลงทุนซื้อหุ้นของพนักงานของกลุ่มบริษัท โดยสะสมเป็นรายเดือน เพื่อเป็นผลตอบแทนให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ และสร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน

“เรื่องดิจิทัล ตอนนี้ BBIK พึ่งมาได้ต้นทางเท่านั้นเองยังเติบโตได้แบบนี้ คนเริ่มตระหนักว่าดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็น อย่างแบงก์ สมัยก่อนโมบายแบงก์กิ้ง มีไว้รองรับสำหรับคนที่ไม่อยากมาธนาคารซึ่งเป็นส่วนน้อย แต่ในปัจจุบันกว่า 90% ช่องทางหลักกลายเป็นดิจิทัลแล้ว สาขากลับเป็นช่องทางรองที่คนจะนึกถึง และตอนนี้เริ่มพัฒนาตัวเป็นซุปเปอร์แอปแล้ว รวมถึงเริ่มมีการจัดตั้ง Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขาถือว่าแบงก์เป็นกลุ่มแรกที่เริ่มก่อน ทำให้ดีมานตรงนี้เกิดขึ้นมหาศาล บริษัทอย่าง BBIK ก็จะมีผลพลอยได้จากการเข้าไปช่วย ซึ่งคนที่เริ่มเร็วก็จะได้เปรียบในตลาด” นายพชร กล่าวทิ้งท้าย

ในเมื่อโอกาสทางธุรกิจของ BBIK ยังมีอีกมหาศาล ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมามากเช่นกัน แต่จำนวน Free Float หุ้น กลับสวนทางกับความต้องการ จึงทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นแรง แนวทางแก้ปัญหาทางหนึ่งคือการแตกพาร์ เพื่อเพิ่มจำนวนหุ้น แต่ติดที่พาร์ของ BBIK อยู่ในระดับต่ำสุดแล้วที่ 0.50 บาทต่อหุ้น ดังนั้นการแตกพาร์อาจไม่ใช่คำตอบที่ BBIK จะเลือกทำได้  ทางออกคือการเพิ่มจำนวนหุ้น อาจต้องเลือกวิธีการจ่ายหุ้นปันผล เพื่อเพิ่มสภาพคล่องหุ้น

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon