สวทช. จับมือ EA เล็งจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา BCG Industry เสริมแกร่งระบบนิเวศวิจัยด้านพลังงาน

60

มิติหุ้น – ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเพื่อนวัตกรรมเชิงอุตสาหกรรมเพื่อ Bio-Circular-Green Economy โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมแสดงความยินดี พร้อมด้วย ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ โถงชั้น 1 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (อาคารโยธี)

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้ที่เป็นสักขีพยานในวันนี้ เพราะความร่วมมือของภาคเอกชนและ สวทช. ทำมาได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญถือเป็นการเปลี่ยนโมเดลของการทำวิจัยในประเทศไทยไปแบบก้าวกระโดด แม้ว่าที่ผ่านมาระบบวิจัยเราทำด้าน Supply ไปสู่ Demand ซึ่งส่วนใหญ่เราทำวิจัยระดับความพร้อมเทคโนโลยี (Technology Readiness Level : TRL) ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นไปถึงการพัฒนาขั้นสุดท้ายของการสาธิตในสภาวะการทำงานเท่านั้น แต่ในระดับเทคโนโลยีส่งมอบผ่านการทดสอบสาธิตในสภาพการใช้งานจริงไปสู่อุตสาหกรรมนั้น ยังมีไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้น EA ถือเป็นตัวอย่างในการร่วมวิจัย ที่เกิดจาก Demand ของบริษัทเอกชน และต้องการเข้ามาร่วมวิจัยสู่การใช้งานจริงในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์ มากกว่าการทำวิชาการด้านเดียว และที่ดีใจเป็นพิเศษ คือ เกิดความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐอย่าง สวทช. ในการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย BCG Economy ซึ่งเป็นวาระประเทศและวาระของ APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและเทคโนโลยี ดังนั้นต้องนำส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดด้านธุรกิจ มาเป็นภาคีในการทำงานร่วมกับองค์ความรู้ที่ กระทรวง อว.มีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมแบบอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลาง (Industrial Centric) ให้กับบุคลากรทางด้านวิจัย และบุคลากรด้านอุตสาหกรรม สร้างนวัตกรรมที่มีความแตกต่างและเกิดเป็น National Product Champion ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากฐานเทคโนโลยีแนวหน้าของอุตสาหกรรม ให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและทำให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มาจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมจุดแข็งให้ภาคอุตสาหกรรม ผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นแนวหน้าในอาเซียนต่อไป

“การดำเนินงานวิจัยและพัฒนานั้น จะเกิดผลสำเร็จก็ต่อเมื่อผลผลิตจากห้องปฏิบัติการมีการนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อภาคเอกชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งการทำงานของ สวทช. เป็นการคิดค้นเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อแก้ข้อจำกัด และเสริมจุดแข็งให้กับภาคเอกชนให้เกิดความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขันด้านธุรกิจ ตลอดจนช่วยให้อุตสาหกรรมก้าวผ่านข้อจำกัดได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน และเป็นผู้เตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีพลังงานเพื่อรองรับบริบทของพลังงานที่เปลี่ยนไป เห็นได้ชัดก็คือการเปลี่ยนรูปแบบพลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า (Electrification) ที่มาจากพลังงานสะอาด สร้างอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทางบริษัทฯ ยังได้เตรียมพร้อมโดยมีการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพื่อพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับใช้งานต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าทางบริษัทฯ มีระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์ครบวงจร ตั้งแต่ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่เป็นแหล่งพลังงาน รวมถึงสถานีชาร์จประจุ ทำให้เกิด Economy of scale ขึ้น สามารถเป็นต้นแบบของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้มีความแตกต่าง เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และมีแรงงานที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน โดยเฉพาะการคมนาคมและขนส่ง โดยถือได้ว่าประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งแต่ผลิตและส่งออกยานยนต์ไปตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ แต่ด้วยในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยมลพิษควบคู่กันไป

ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยยังรักษาความแข็งแรงในระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ดีต่อไป จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศไทย ให้มีผลผลิตจากการวิจัยและพัฒนาเป็น Nation’s Product Champion โดยไม่ใช่เพียงแค่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในด้านแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิจัยและพัฒนาด้าน Biochemical และผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพต่อไป

“ความร่วมมือกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่จะเกิดขึ้นไปนับจากนี้ จะทำให้นักวิจัย สวทช. ได้ใช้ความเชี่ยวชาญที่มีดำเนินการวิจัยแก้ปัญหา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับภาคอุตสาหกรรมได้เป็นเอกภาพมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลเชิงวิชาการและเชิงอุตสาหกรรมระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ Nation’s Product Champion ที่ออกสู่ตลาดได้และช่วยยกระดับการวิจัยพัฒนาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ต่ออุตสาหกรรมไทยต่อไป”

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  EA รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเพื่อนวัตกรรมเชิงอุตสาหกรรมเพื่อ Bio-Circular-Green Economy กับ สวทช. ทั้งนี้ EA  มุ่งดำเนินธุรกิจ “Green Product” โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาด้านพลังงานสะอาด ที่จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศบนพื้นฐานความยั่งยืนให้เดินหน้าอย่างสมดุล ตามนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ดังนั้นถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของ EA และ สวทช. ในการเตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา BCG Industry มุ่งเน้นผลลัพธ์เชิงอุตสาหกรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG Model ได้แก่ 1. แบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า รถ-ราง-เรือ และโครงสร้างพื้นฐาน 2. ผลิตภัณฑ์ด้าน Biochemicals และ 3. ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการร่วมกันวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมด้านพลังงานอย่างครบวงจร

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon