ธ.ก.ส เติมทุน 30,000 ล้าน หนุน SME ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก BCG Model

60

มิติหุ้น – ธ.ก.ส. หนุนธุรกิจ SME นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ BCG Model  ชูสวนส้มปรีชาฝาง ต้นแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำผลงานวิจัยมาลดต้นทุนและเพิ่มมาตรฐานผลผลิต  ทำให้ส้มสายน้ำผึ้งมีคุณภาพดีปลอดภัยจากสารพิษ มีการนำวัตถุดิบเหลือใช้ ทั้งเปลือกส้ม เมล็ดส้ม มาแปรรูปต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า การจัดการดินและระบบน้ำ การลดขยะจากต้นทางสร้าง Zero waste เน้นนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่งดงามมีเอกลักษณ์ พร้อมเชื่อมต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ กระตุ้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดย ธ.ก.ส. พร้อมจัดวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อ SME เสริมแกร่ง อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมบูธและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายณัฐพจน์ เชษฐาวัฒนานุกูล เจ้าของสวนส้มปรีชาฝางที่ดำเนินธุรกิจสวนส้มสายน้ำผึ้งด้วยความมุ่งมั่น และตั้งใจมากว่า 35 ปี มีการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ส้มที่มีคุณภาพดีและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้เชื้อจุลินทรีย์และสารสกัดจากพืชมากำจัดและควบคุมศัตรูส้มแบบชีววิธี (Biological Controls) สามารถแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในผลส้มและดินที่ปลูก มีการนำวัตถุดิบเหลือใช้จากผลส้ม เช่น เปลือก เมล็ดมาแปรรูปและต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้หลัก BCG Economy Model โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส และนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมให้ข้อมูล  ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างยาวนาน รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้วางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า BCG Economy Model ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ประกอบด้วย B: Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ทดแทนการใช้สารเคมี C: Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G : Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งส่งเสริมการเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้ในส่วนของ ธ.ก.ส. มีนโยบายชัดเจนที่จะยกระดับรายได้เกษตรกร โดยการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่พืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ควบคู่กับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งด้านความรู้และด้านการตลาด ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่านสินเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ สร้างโอกาสให้เกษตรกร ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่สามารถเติมเต็มศักยภาพในการผลิตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ด้านคุณณัฐพจน์ เชษฐาวัฒนานุกูล ผู้ก่อตั้งสวนส้มปรีชาฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางด้านโภชนาการ แต่ที่ผ่านมาถูกมองว่า เป็นตัวการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงตั้งปณิธานว่า จะต้องทำให้คนไทยได้บริโภคส้มที่มีคุณภาพและปลอดภัย จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตส้มสายน้ำผึ้งปลอดภัยเมื่อ 5 ปี    ที่แล้ว โดยมีห้องปฏิบัติการและทีมงาน Research and Development สำรวจและเก็บตัวอย่างโรคพืชและศัตรูพืช ในแปลงส้มมาทดลองหาสาเหตุของโรคพืช และสามารถพัฒนาการใช้เชื้อจุลินทรีย์และสารสกัดจากพืชมากำจัดและควบคุมศัตรูส้มแบบชีววิธี (Biological Controls) แทนการใช้สารเคมีได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลผลิตส้มด้วยชุดตรวจสอบ (GPO-TM KST) ซึ่งพัฒนาและรับรองโดยองค์การเภสัชกรรม ซึ่งการวิจัยพัฒนาผลผลิตในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานดังกล่าว นำไปสู่การผลิตส้มปลอดภัยที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร จากการทำเกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model ปัจจุบันสวนส้มปรีชาฝางมีพื้นที่การเพาะปลูกรวม 500 ไร่ โดยมีพื้นที่ในการทดลองวิจัยและพัฒนาส้มปลอดภัยกว่า 14 ไร่         และกำลังขยายพื้นที่ในการทำวิจัยอีกรวม 190 ไร่ พร้อมนำวัตุดิบจากผลส้มมาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต

สวนส้มปรีชาฝาง ยึดมั่นอุดมคติในการทำสวนส้ม ภายใต้สโลแกน “ปลูกด้วยรัก คัดด้วยใจ ใส่ใจทุกขั้นตอน”  โดยให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเก็บ การคัดคุณภาพ และคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สวยงามทรงคุณค่า ซึ่งบางส่วนผลิตและใช้วัตถุดิบธรรมชาติ โดยฝีมือของกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้านในชุมชน เช่น ชะลอม ตะกร้า ถุงผ้า จึงเหมาะกับการมอบเป็นของฝากและของขวัญในทุกเทศกาล โดยเปิดจำหน่ายส้มสายน้ำผึ้ง ผ่านช่องทางออนไลน์และมีการจัดส่งถึงหน้าบ้านผู้บริโภคโดยตรง และยังเตรียมขยายตลาดไปยังห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลชั้นนำ        ทั่วประเทศ นอกจากนี้ สวนส้มปรีชาฝางยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมงาน พร้อมถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรมทักษะด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรในชุมชนและผู้ที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์อีกด้วย

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า สวนส้มปรีชาฝาง ถือเป็นต้นแบบ SMEs เกษตรที่มุ่งดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก BCG โมเดล ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต สร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการลงทุนที่ตอบโจทย์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น ผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร วงเงิน 30,000   ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือลงทุนในการประกอบธุรกิจ โดยสามารถติดต่อขอใช้บริการสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call center 02 555 0555

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon