มิติหุ้น – นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สิ่งที่มาควบคู่กับธุรกิจครอบครัว ก็คือความอ่อนไหวและความเคยชินในการเป็นสมาชิกครอบครัว การข้ามผ่านความเป็นครอบครัวไปสู่การบริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพจึงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ ครอบครัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าการก้าวผ่านความเป็นธุรกิจครอบครัวจะไม่สามารถทำได้ ในประเทศไทยเองก็มีหลายธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จและสามารถส่งต่อธุรกิจกันมาหลายต่อหลายรุ่น
ล่าสุด เรื่องราวประเด็นปัญหาของการส่งต่อธุรกิจ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นซีรีส์เกาหลีที่ได้รับความนิยม เล่าเรื่องเกี่ยวกับตระกูลมหาเศรษฐีที่บริหารธุรกิจกันโดยสมาชิกในครอบครัว สะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาธุรกิจครอบครัวที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรุ่นพ่อไปสู่รุ่นลูก โดยที่พ่อยังยึดมั่นในธรรมเนียมดั้งเดิมที่ต้องการส่งต่อธุรกิจให้กับลูกชายคนโต เมื่อเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม พี่น้องจึงพร้อมแย่งชิงธุรกิจและทรัพย์สมบัติกันเองจนแทบไม่เหลือความเป็นครอบครัว
KBank Private Banking ได้ถอดบทเรียนจากซีรีส์เกาหลี สรุปปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การส่งต่อธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 4 ประการได้แก่ “วางแผน-กำหนดกติกา-สร้างการมีส่วนร่วม-บริหารอย่างมืออาชีพ” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- วางแผน สมาชิกในครอบครัวต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมาย และร่วมกันวางแผนเพื่อให้สามารถเดินไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ซึ่งนอกจากจะต้องวางแผนในเชิงธุรกิจแล้ว ระบบการจัดการภายในเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้น ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจึงต้องมีการตั้งเป้าหมาย วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของครอบครัว วางแผน และลงมือปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ เช่น ตั้งเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์ของครอบครัวเป็นสินค้าระดับโลก ธุรกิจครอบครัวจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร สมาชิกต้องมีบทบาทและหน้าที่อะไรบ้าง สิ่งใดเป็นข้อดี สิ่งใดที่ยังขาด จะต้องมีการนำเรื่องเหล่านี้มากำหนดเป็นแผน และทำให้สมาชิกทุกคนเข้าใจตรงกัน เป็นต้น
- กำหนดกติกา สมาชิกครอบครัวจะต้องมีการกำหนดกติกาต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ลดความขัดแย้ง โดยสมาชิกจะต้องรับรู้ถึงบทบาท สิทธิและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงผลประโยชน์ที่สมาชิกครอบครัวแต่ละคนจะได้รับ ซึ่งหากเป็นการตกลงร่วมกัน จะช่วยลดความรู้สึกไม่เป็นธรรม นอกจากกติกาแล้ว การบริหารจัดการยังจะต้องแยกเสาหลักของการจัดการ “ธุรกิจ” และ “ครอบครัว” ออกจากกัน แต่ยังต้องมีความเชื่อมโยงซึ่งประสานประโยชน์ระหว่างสองเรื่องนี้ได้ เช่น การบริหารจัดการธุรกิจอาจทำเป็นระบบเช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันการตัดสินใจในฐานะผู้ถือหุ้น การปันผลเพื่อประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว ยังคงเป็นเรื่องภายในครอบครัว เป็นต้น
- สร้างการมีส่วนร่วม สมาชิกในครอบครัวไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนในการดำเนินธุรกิจหรือระบบการจัดการภายในครอบครัวทุกคน แต่สิ่งสำคัญคือการยึดถือและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามกติกาที่ครอบครัวได้ตกลงร่วมกันไว้ นอกจากนี้ การสื่อสารภายในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างความเข้าใจ ลดความเคลือบแคลงที่อาจเกิดเป็นปัญหาผิดใจกัน และส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ ในปัจจุบัน หลายๆ ครอบครัวจะมีการจัดกิจกรรมระหว่างสมาชิกครอบครัวในรุ่นต่างๆ เพื่อให้คนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ลูกพี่ลูกน้อง ป้าหลาน ปู่ย่าตายาย มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีในแง่ของความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจครอบครัวมีความเข้มแข็งอีกด้วย
- บริหารอย่างมืออาชีพ หนึ่งในการข้ามผ่านความเป็นธุรกิจครอบครัวคือการบริหารอย่างมืออาชีพ บางครอบครัวอาจมีข้อตกลงร่วมกันที่จะว่าจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ บางครอบครัวอาจจะยังให้สมาชิกในครอบครัวบริหารเองอยู่ แต่ก็จำเป็นจะต้องเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการบริหารมากขึ้น นอกจากตัวบุคคลแล้ว โครงสร้างของธุรกิจครอบครัว จะต้องมีการจัดระบบที่สามารถรองรับการบริหารอย่างมืออาชีพได้แทนการบริหารจัดการธุรกิจแบบครอบครัวอย่างเดิม
“สำหรับการส่งมอบบริการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว KBank Private Banking นำประสบการณ์และองค์ความรู้กว่า 225 ปีที่ได้รับถ่ายทอดจาก Lombard Odier ซึ่งยังเป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อกันมาถึง 7 รุ่นด้วยกัน ทำให้สามารถส่งมอบบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวได้อย่างครบวงจร เพื่อช่วยให้ทุกครอบครัวสามารถวางแผนและดำเนินการบริหารธุรกิจครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตให้สินทรัพย์ครอบครัวงอกเงยอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นระบบได้ และเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป” นายพีระพัฒน์ กล่าวปิดท้าย
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon