CHASE ตัวจริงธุรกิจ AMC โชว์ผลงานปี 65 โกยเงินจากพอร์ต NPLs 287 ล้านบาท โตขึ้นกว่า 70% และรับอัตราค่าคอมมิชชั่นในธุรกิจติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินสูงกว่า 21.6%

111

มิติหุ้น – บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) (“CHASE”) บริษัทชั้นนำที่ให้บริการติดตามทวงถามและบริหารหนี้เสีย (AMC) ที่มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี โชว์กระแสเงินสดจากพอร์ต NPLs เติบโตกว่า 70% ในปีที่ผ่านมาหรือรวมกว่า 287 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน เชฎฐ์ เอเชีย ได้รับอัตราค่าคอมมิชชั่นในระดับสูงมากถึง 21.6% ในงวด 9 เดือนสิ้นสุด 30 กันยายน 2565 พร้อมนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจ โดยตั้งเป้าซื้อ NPLs ปีละ 1,000 ล้านบาท และขยายทีมงานเร่งรัดติดตามหนี้สินที่กำลังโตต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลกำไรอย่างก้าวกระโดดในปี 2566

เชฎฐ์ เอเชีย ตอกย้ำความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์ (AMC)  คุณประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า “ในธุรกิจ AMC นั้น บริษัทฯ จะต้องนำเงินไปซื้อพอร์ตหนี้เสียจากทางธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ยิ่งจัดเก็บหนี้ได้จากพอร์ต NPLs ที่ซื้อมาได้มากก็ยิ่งได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเงินสดที่เก็บได้เทียบกับเงินลงทุน จะพบว่า เชฎฐ์ เอเชีย มีศักยภาพการจัดเก็บหนี้อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุนสำหรับพอร์ต NPLs ในปีเดียวกัน ซึ่งในอดีตสามารถเก็บเงินสดได้มากถึง 252% เมื่อเทียบกับเงินลงทุนสำหรับพอร์ต NPLs ที่ซื้อมาในปี 2556 และในรอบ 9 เดือนปี 2565 บริษัทฯ สามารถจัดเก็บกระแสเงินสดจากพอร์ต NPLs ได้กว่า 287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรอบ 9 เดือนปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 167 ล้านบาทถึง 70%”

นอกจากนี้ คุณประชา ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน (Collection) ว่า “บริษัทที่ให้บริการจะได้รับค่าจ้างเป็นค่าคอมมิชชั่นจากการทวงถามหนี้ เช่น ตามเก็บหนี้ได้ 100 บาท ก็อาจจะได้รับคอมมิชชั่นจากทางธนาคารประมาณ 7 บาท เป็นต้น สำหรับ เชฎฐ์ เอเชีย นั้นมีอัตราค่าคอมมิชชั่นที่อยู่ในระดับสูง โดยได้รับอัตราค่าคอมมิชชั่นสูงถึง 21.6% สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุด 30 กันยายน 2565 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราค่าคอมมิชชั่นที่สูงมากในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งผลตอบแทนที่สูงนั้นมาจากความชำนาญของเราที่คร่ำหวอดในวงการและแน่นด้วยประสบการณ์ ส่งผลให้สามารถตามเก็บหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับงานทวงถามหนี้ที่มีความท้าทายสูง เช่น เป็นลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้มานานแล้ว บางครั้งไม่สามารถติดตามตัวลูกหนี้ได้ หรือบางครั้งลูกหนี้มีปัญหาในการชำระหนี้ งานเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง รวมถึงบางครั้งอาจต้องใช้การบังคับใช้ทางกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในความเชี่ยวชาญของ เชฎฐ์ เอเชีย”

ปัจจุบัน เชฎฐ์ เอเชีย มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคุณประชา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (“RS”) ซึ่งจะถือหุ้นประมาณ 51% และ 20% ตามลำดับ คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ยืนยันว่าจะไม่ขายหุ้นเพิ่มเติมและคงสัดส่วนการถือหุ้นใน เชฎฐ์ เอเชีย ต่อไป โดยย้ำว่า “ตั้งแต่ในปี 2564 ที่อาร์เอส กรุ๊ป ได้เข้าการลงทุนในบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) (CHASE) เราได้ทำงานร่วมกันอย่างหนักเพื่อขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ร่วมกัน ทั้งการเตรียมความพร้อมของเงินทุน และการยกระดับระบบบริหารงานภายใน โดยเล็งเห็นว่าหลังจากเข้าระดมทุน IPO แล้วยังมีโอกาสทางธุรกิจระหว่าง เชฎฐ์ เอเชีย และ อาร์เอส กรุ๊ป ที่จะร่วมมือกันอีกมาก มั่นใจศักยภาพของ เชฎฐ์ เอเชีย ในฐานะผู้นำการให้บริการบริหารจัดการหนี้สินอย่างครบวงจร ผสานกับโมเดลธุรกิจ Entertainmerce ที่แข็งแกร่งของอาร์เอส กรุ๊ป จะทำให้เกิดการเติบโตร่วมกันในหลายมิติ ทั้งในแง่การใช้สื่อ และการขยายฐานลูกค้า ทั้งนี้ หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางอาร์เอส กรุ๊ป จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 20.35% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ อาร์เอส กรุ๊ป ถือภายหลังจากการเสนอขาย IPO ด้วยเล็งเห็นว่าการลงทุนใน เชฎฐ์ เอเชีย เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Investment) ในระยะยาว โดยนักลงทุนของ เชฎฐ์ เอเชีย สามารถมั่นใจได้ว่าหุ้นส่วนที่ไม่ติด Silent ทั้งหมดจำนวน 331 ล้านหุ้นเป็นของอาร์เอส กรุ๊ป ดังนั้นจะไม่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น เชฎฐ์ เอเชีย ออกมาในตลาดหลัง IPO เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฎฐ์ เอเชีย ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จทั้งในด้านการบริหารติดตามทวงถามหนี้สิน และการบริหารจัดการหนี้เสียหรือ NPLs เราเชื่อมั่นว่า เชฎฐ์ เอเชีย จะยังคงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูง พร้อมสร้างโอกาสและการเติบโตในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน อาร์เอส กรุ๊ป ก็พร้อมยืนหยัดสนับสนุนความสำเร็จของ เชฎฐ์ เอเชีย ในก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง”

คุณประชา ได้กล่าวปิดท้ายว่า “ที่ผ่านมา เชฎฐ์ เอเชีย มีการปล่อยสินเชื่อเพื่อความหวังหรือ Hope Loan โดยเป็นสินเชื่อที่บริษัทปล่อยให้กับลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียแล้วเท่านั้น ซึ่งไม่มีสถาบันการเงินอื่นใดให้โอกาสกับลูกหนี้เช่นเดียวกับที่เราได้ทำ โดยในอดีตบริษัทจะสามารถก้าวถึงจุดคุ้มทุน (Break Even) จากการติดตามเงินสด Hope Loan ได้ในปีที่ 5 หรือ 6 ของพอร์ตในแต่ละปี โดยในภายหลัง บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยชะลอและหยุดให้บริการปล่อยสินเชื่อ Hope Loan และนำเงินทุนที่มีมาใช้ดำเนินธุรกิจ AMC ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโต ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นภายหลังการเข้าตลาดฯ ได้เต็มที่มากกว่า ดังนั้น เราจึงวางแผนที่จะขยายทั้งธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) และธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน (Collection) โดยตั้งเป้าที่จะซื้อ NPLs ปีละ 1,000 ล้านบาท พร้อมขยายทีมเร่งรัดติดตามหนี้สินเพื่อให้บริการติดตามทวงถามหนี้ เพื่อรองรับการติดตามทวงถามหนี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต”

 

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon