สดช. จับมือ มธบ. จัดทำร่างแนวทางหนุนคนพิการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

63

มิติหุ้น – สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) “จัดประชุมระดมความคิดเห็นการจัดทำ(ร่าง)แนวทาง กลไก และรูปแบบการให้บริการ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ” โดยมี นายภุชพงค์ โนดไธสง  เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย น.ส.รัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์  ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ ร่วมในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมทีเค. พาเลช  แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

นายภุชพงค์ กล่าวว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนให้คนไทยได้เข้าถึงดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ โดยเดิมทีกระทรวงดีอีเอส ได้มีกฎกระทรวงในการดูแลคนพิการให้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัลในรูปแบบให้และให้ยืม ซึ่ง สดช. มองว่าการซื้ออุปกรณ์มาคงคลังไว้ และรอให้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ประสานให้คนพิการมายื่นขอสื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้อุปกรณ์ที่ซื้อมาเก่าและไม่ทันสมัย

 “การทำงานรูปแบบเดิม รอให้คนพิการมายืมยังไม่ครอบคลุมและไม่ทันท่วงที สดช. จึงได้จัดทำร่างดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงดิจิทัลได้จริงและปรับกฎกระทรวง แต่การปรับกฎกระทรวงย่อมมีขั้นตอน มีกระบวนการ มีการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลากว่า 1 ปี จึงจะเห็นร่างชัดเจน ดังนั้น นอกจากสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ การปรับกฎกระทรวงแล้ว สดช. มีแนวทางพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการประเมินเว็บไซต์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน WCAG (Web Content Accessibility Guideline) ทุกคนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ และร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแอพพลิเคชั่น โดยนำบัตรดิจิทัลสำหรับคนพิการมาเชื่อมให้คนพิการเข้าถึงดิจิทัลโดยใช้จุดบริการเพียงจุดเดียว โดยมุ่งหวังการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ” นายภุชพงค์ กล่าว

น.ส.รัตนา กล่าวว่า กลุ่มคนพิการ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานเว็บไซต์ หรือเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านความรู้จากการใช้ดิจิทัล  สดช. จึงได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการจัดทำร่างดังกล่าวขึ้น เพื่อศึกษารวบรวมและวิเคราะห์การเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร บริการสื่อสาธารณะ รวมถึงเป็นแนวทางในการจัดทำ (ร่าง) แนวทางส่งเสริมสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ พร้อมปรับปรุงกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2554 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมของสังคมไทยในปัจจุบัน  ทั้งนี้ สดช. เป็นหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยประกาศเชิญชวนมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม ซึ่ง DPU มีศักยภาพและความพร้อมในการจัดทำร่างดังกล่าว        

ดร.ชัยพร ในฐานะหัวหน้าที่ปรึกษาของโครงการ กล่าวว่า DPU ได้เข้ามาช่วย สดช. จัดทำร่างแนวทาง ซึ่งจากการศึกษา รวบรวม วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ พบว่าประเทศที่มีการส่งเสริมคนพิการที่ดีส่วนใหญ่ล้วนมีแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนคนพิการในรูปแบบของการให้ ทั้งการให้เงินอุดหนุนและให้อุปกรณ์ โดยสรุปได้ 4 แนวทาง ดังนี้ 1.การให้อุปกรณ์ (Providing) 2.การสนับสนุนเงินช่วยเหลือ (Grants) 3.การสนับสนุนคูปอง (Coupon) และ 4.การให้เงินกู้ยืม (Loan) ซึ่งแต่ละวิธีนั้นมีจุดเด่น และจุดแตกต่างกันออกไป

ดร.ชัยพร กล่าวว่า “ถ้าพิจารณาจากบริบทและสถานการณ์แล้ว พบว่าประเทศไทยมีประมาณกว่า 3 ล้านคน รูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นควรว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ และคูปองอิเล็กทรอนิกส์  ส่วนการให้เงินกู้ยืมนั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะคนพิการบ้านเรามีข้อจำกัดเรื่องรายได้ การจะมาใช้เงินคืนอาจจะสร้างความลำบากให้แก่คนพิการมาก รวมทั้งกระบวนการและระบบที่รองรับต้องซับซ้อนมาก”

ดร.ชัยพร กล่าวต่อว่า CITE มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งความร่วมมือจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ทำให้ DPU มีความพร้อมทั้งกระบวนการ และกลไกการนำองค์ความรู้มาช่วยพัฒนากลไกและเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะคนพิการให้เท่าเทียมกับคนปกติและคนพิการในต่างประเทศ  เพราะคนพิการไทยมีปัญหาทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยี อุปกรณ์ และบริการ รวมถึงข่าวสารของภาครัฐที่ปัจจุบันล้วนอยู่ในโลกดิจิทัล เว็บไซต์ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เน้นความสวยงาม แต่ไม่ได้เน้นการเข้าถึงของคนเข้าใช้บริการ โดยหลังจากได้ข้อสรุป แนวทางแล้ว โครงการดังกล่าวจะนำไปทดลองกระบวนการให้บริการแก่คนพิการทุกประเภท จำนวน 150 คน เพื่อประเมินว่าเหมาะสมสำหรับคนพิการ ก่อนจะนำเสนอปรับกฎกระทรวงต่อไป โดยมีความเชื่อมั่นว่าแนวทางที่กำลังผลักดันอยู่นี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการแน่นอน

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า ปัญหาในการเข้าถึงเว็บไซต์และแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือของคนพิการนั้น จะเป็นเรื่องแพลตฟอร์ม เนื้อหา และบุคลากร  เนื่องจากยังไม่ได้เป็นการจัดทำเว็บไซต์หรือสื่อที่นึกถึงทุกคน หรือ For all  ขณะเดียวกันระบบการศึกษาที่สอนคนพิการ โดยเฉพาะพิการทางการได้ยินยังมีปัญหาอย่างมาก ยิ่งโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเสียง ดังนั้น การจัดทำร่างดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญทำให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่มีมาตรฐานออกมาบังคับว่าแพลตฟอร์มและเนื้อหาต้องเป็นอย่างไร และต้องมีบุคลากรที่เพียงพอในการจัดทำเว็บไซต์ สื่อดิจิทัลที่รองรับทุกคน

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon