บี.กริม เพาเวอร์ จัดตั้งบริษัทย่อย “Amata B.Grimm Vietnam” ในประเทศเวียดนาม

94

มิติหุ้น  –  ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51.2 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ได้จัดตั้ง Amata B.Grimm Vietnam Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยแห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม ด้วยทุนจดทะเบียน 14,764,800,000 เวียดนามดอง (เทียบเท่ามูลค่าประมาณ 21.66 ล้านบาท) โดยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ มีการขยายการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี เริ่มตั้งแต่โรงไฟฟ้าอมตะซิตี้เบียนหัว จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์ม ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือโครงการ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 (DT1& DT2) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์ ที่จังหวัด Tay Ninh และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen TTP ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 257 เมกะวัตต์ จังหวัดฟูเยี่ยน นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในประเทศเวียดนาม รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

            “การจัดตั้งบริษัทใหม่ในครั้งนี้ เป็นการแสดงความพร้อมของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการเข้าเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนหลักที่สำคัญภายใต้แผนพัฒนาพลังงานของประเทศเวียดนามที่มีแผนรองรับการขยายตัวอีกเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ GreenLeap – Global and Green ของ บี.กริม เพาเวอร์ ในปี 2566 นี้ ที่มุ่งมั่นพัฒนาด้านพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและปลอดภัย เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการ ‘สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี’ (Empowering the World Compassionately) ที่ยึดมั่นในการดำเนินงานตลอดมา” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

            บี.กริม เพาเวอร์ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 การเพิ่มกำลังเป็น 4,700 เมกะวัตต์ ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น มีเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% ในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 25%