PTT สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 27 ก.พ. – 3 มี.ค. 66 และแนวโน้ม 6 – 10 มี.ค. 66

428

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว โดย Caixin/Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index: PMI) ของจีนในเดือน ก.พ. 66 เพิ่มขึ้น 2.4 จุด จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 51.6 จุด บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเหนือระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 65 โดยได้แรงหนุนจากการกลับมาเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) สาขา Atlanta นาย Raphael Bostic สนับสนุนให้ Fed ชะลอความรุนแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่า Fed อาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% จากระดับปัจจุบัน สู่ 4.75-5.0% ในการประชุมวันที่ 21 – 22 มี.ค. 66 (คาดการณ์เดิมเพิ่มขึ้น 0.5%) ซึ่งจะคลายความกดดันต่อภาคเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน

ความเห็นของผู้ค้าพลังงานในงานสัมมนาด้านพลังงาน CERAWeek ระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค. 66 เมือง Houston รัฐ Texas ของสหรัฐฯ ล่าสุด ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 66 อาทิ นาย Mike Wirth, CEO ของ Chevron Corp. กล่าวว่าตลาดน้ำมันยังอยู่ในภาวะตึงตัวและมีความเสี่ยงต่อภาวะอุปทานชะงักงัน แม้ว่าน้ำมันดิบจากรัสเซียยังคงเข้าสู่ตลาด แต่ระยะทางและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนราคาที่แตกต่างกันจากมาตรการคว่ำบาตร จะทำให้อุปทานตึงตัว นอกจากนี้ นาย Torbjorn Tornqvist, CEO ของบริษัท Gunvor กล่าวว่าราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 66 เนื่องจากอุปสงค์ของจีนกลับสู่ตลาด สัปดาห์นี้ ทางเทคนิคคาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84 – 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • รัฐบาลจีนตั้งเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2566 ที่ประมาณ 5% จากปีก่อนหน้า ในการประชุม National People’s Congress (NPC) ของจีนวันที่ 5 มี.ค. 66 ทั้งนี้ GDP ของจีนปี 2565 อยู่ที่ +3% จากปีก่อนหน้า
  • บริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา (Petroleos de Venezuela, S.A.: PDVSA) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 66 ลดลง 8% จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 5.55 แสนบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 65
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มี.ค. 66 ลดลง 8 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 592 แท่น

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. 66 เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยส่งออกสู่ยุโรปเพิ่มขึ้น 75% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Reuters รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 66 เพิ่มขึ้น 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 28.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยไนจีเรีย ซึ่งผลิตเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon