กสิกรไทยประสานเสียงกูรู คาด “จีน” ผงาดจากเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน

112

มิติหุ้น – งานสัมมนา THE WISDOM Investment Forum China Insight Unlock Wealth Opportunity in 2023 โดย ธนาคารกสิกรไทย เชิญนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการลงทุน ร่วมวิเคราะห์สัญญาณเศรษฐกิจทั่วโลกจากเหตุวิกฤตธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) จนลามมาสู่ธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) สะเทือนเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนพุ่งสูงขึ้นถึง 5% ด้วยปัจจัยหลักจากความชัดเจนของทั้งนโยบายการเมืองและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่พร้อมรับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนกว่า 4.65 ล้านคนเดินทางเข้ามาไทย พร้อมดันยอดส่งออกในฐานะประเทศคู่ค้าอันดับสองรองจากสหรัฐฯ ด้วยมูลค่ารวมกว่า 34,389 ล้านดอลลาร์ แนะจับตาโอกาสลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมหลักที่จีนกำลังให้ความสำคัญ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Tech) กลุ่มอีคอมเมิร์ซ และกลุ่มอุปโภคบริโภค

  

ดร. พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เวลานี้แม้เศรษฐกิจโลกยังมีความคลุมเครือและความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะวิกฤตการเงิน จากเหตุการณ์ของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) รวมถึงปัญหาธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) สะท้อนได้ว่าไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกา ภูมิภาคเดียวที่เจอปัญหาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ แต่ยุโรปก็กำลังเผชิญกับปัญหาเช่นกัน ซึ่งผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับแนวทางการจัดการของรัฐบาล และธนาคารกลาง-ว่าจะสามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้รวดเร็วแค่ไหน แต่สำหรับสถานการณ์ของอีกฟากหนึ่งอย่าง “จีน” บรรยากาศกลับสวนทาง โดยเฉพาะหลังการประชุมสองสภา จะยิ่งเห็นถึงความชัดเจนของทั้งนโยบายการเมือง ความพร้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการเริ่มเปิดประเทศของจีน เชื่อว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย 

จีนเปิดเมือง! จับตา 4 ปัจจัยส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย

  • 10.99 ล้านคน คือ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2562 (ก่อนโควิด)
  • 71,014 ล้านดอลลาร์ คือ มูลค่านำเข้าสินค้าจากจีนในปี 2565
  • 34,389 ล้านดอลลาร์ คือ มูลค่าส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนในปี 2565
  • 77,381 ล้านบาท คือ มูลค่าการลงทุนของ 158 โครงการที่ภาคธุรกิจจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2565

     

    ประเมินโอกาสเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางวิกฤตธนาคารในสหรัฐและยุโรป  
     
    วิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเวลานี้ ยังเป็นประเด็นที่สำคัญให้ต้องติดตาม ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อว่า แม้ในระยะสั้นตลาดจะสงบลงได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะระบบการเงินเป็นเหมือนเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโดยรวม มีโอกาสเป็นไปได้ว่า ถ้าเกิดวิกฤตการเงินอาจจะไปฉุดเศรษฐกิจจีนได้เช่นกัน แต่จีนมีความพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ โดยมีเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 5% ซึ่งถือเป็นการตั้งตัวเลขไว้ต่ำเพื่อเอาชนะเป้าหมาย จึงมองว่ามีโอกาสที่เงินลงทุนทั่วโลกจะเข้ามาลงทุนในจีนและฝั่งเอเชียมากขึ้น

     สำหรับเศรษฐกิจไทย หากมองในแง่คู่ค้า ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกามากกว่าจีน ถ้าเกิดปัญหาฝั่งสหรัฐอเมริกาย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยแน่นอน แต่ในเชิงการท่องเที่ยว ไทยได้นักท่องเที่ยวจากจีนมากกว่า ซึ่งถ้าดูจากประมาณการณ์คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนกลับมาในปีนี้ประมาณ 4.65 ล้านคน จึงเชื่อว่าจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความเสี่ยงฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งทั้งด้านทุนสำรอง ความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะมีปัญหาด้านหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่า ถ้าไม่มีอุบัติเหตุวิกฤตการเงินโลกที่รุนแรง เศรษฐกิจไทยปีนี้จะยังคงเดินหน้าไปต่อได้

     

เสถียรภาพการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน สร้างโอกาสสดใสให้การลงทุนในจีน  

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง มุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆ ของคนจีนกับต่างชาติมักแตกต่างกัน อย่างเรื่องผู้นำชุดใหม่ ต่างชาติมองว่า การที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง เป็นคนใกล้ชิดประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะทำให้ไม่มีใครกล้าเห็นต่าง แต่คนจีนกลับมองเป็นภาพบวก การเป็นทีมเดียวกัน นำไปสู่ความสามัคคีและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ส่วนเป้า GDP 5% ที่จีนประกาศออกมานั้นได้คิดรวมความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนด้วยแล้ว ฉะนั้นถามว่าวิกฤตการเงินฝรั่งจะลามมาเป็นวิกฤตการเงินจีนหรือไม่ คงไม่เกิดผลกระทบตรงนี้ เพราะระบบการเงินของจีนค่อนข้างปิด รัฐบาลคุมหนักในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าในแง่เศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีอาจฉุดเศรษฐกิจจีนได้ เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจการส่งออก ถือได้ว่าเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก 

              

ด้านความเห็นของ คุณภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เวลานี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนเริ่มฟื้นกลับมาเป็นปกติ โดยเชื่อว่าปี 2023 จะเป็นปีที่ดีที่สุดของประเทศจีน เพราะตลอดช่วง  3 ปีของการเกิดโควิด-19 คนจีนไม่ได้มีการเดินทาง ทำแต่งานเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และเงินก้อนนี้เองที่เตรียมพร้อมจะนำออกมาลงทุน หรือนำออกมาใช้หลังจากที่เปิดประเทศแล้ว สำหรับโอกาสที่น่าสนใจในการลงทุนมองว่า จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ล้อไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนของรัฐบาลจีน เช่น กลุ่ม Deep Tech หรือเทคโนโลยีขั้นสูง เนื่องจากรัฐบาลจีนพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้ในการแข่งขันกับโลกตะวันตก

             

 

เช่นเดียวกับ คุณทิวา ชินธาดาพงศ์ นักลงทุนไทย ซึ่งมองการลงทุนในจีนว่า เป็นโอกาสที่ดี ยิ่งในระยะยาวด้วยแล้วยิ่งมีโอกาส อย่างปีที่แล้วจะเห็นว่าการที่รัฐบาลสั่งลงดาบบริษัทยักษ์ใหญ่หลายราย มองว่าไม่ใช่การจะฆ่าให้ตาย แต่เป็นเพียงการจัดระเบียบ ซึ่งปีนี้เริ่มผ่อนคลายและปล่อยให้เดินหน้าไปได้ต่อ เนื่องจากวิธีคิดของจีนคือ Innovation first and then regulation คือ ปล่อยให้พัฒนานวัตกรรมไปอย่างเต็มที่ก่อนแล้วค่อยจัดระเบียบภายหลัง ซึ่งสวนทางกับฝั่งสหรัฐอเมริกา คือ Innovation first and then no regulation ปล่อยให้เป็นอิสระอย่างเต็มที่กับการพัฒนานวัตกรรมโดยไม่มีการจัดระเบียบ จึงเชื่อว่า ประเทศจีนผ่านการวางรากฐานเศรษฐกิจ พร้อมทั้งดำเนินการปราบปรามคอรัปชันไว้แล้ว หากไม่มีอะไรมาฉุดไว้ สเต็ปถัดไปคือ การเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน พร้อมแนะนำโอกาสสำหรับการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุปโภคบริโภคมีความโดดเด่นน่าสนใจ เพราะจีนมีความต้องการที่จะเพิ่มชนชั้นกลางจาก 300-400 ล้านคน ให้เพิ่มเป็นเท่าตัว จึงกลายเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เช่นเดียวกับกลุ่มอีคอมเมิร์ซ หรือค้าปลีกออนไลน์จีนที่มีการเติบโตอย่างมหาศาล โดยปีที่แล้วมีมูลค่าถึง 44 ล้านล้านหยวน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ถึง 100 ล้านล้านหยวนในอนาคต 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon