มิติหุ้น – เศรษฐกิจปี 2566 กำลังเผชิญความท้าทายที่ชัดเจนมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของเครื่องยนต์หลักจากการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวไปสู่ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่า Krungthai COMPASS ได้คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.4% แต่การเปลี่ยนผ่านของแต่ละเครื่องยนต์หลักได้กระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในเดือน ธ.ค. 2565 และมีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตต่อเนื่องนั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาถึงระดับ 27.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้เพียง 22.5 ล้านคน แต่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะชะลอตัวผ่านการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสกลับมาหดตัวถึง -1.6% รุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 0.7% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก และมีความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงมากกว่าคาด สะท้อนจากการปิดตัวลงของธนาคารพาณิชย์บางแห่งในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) จากการขาดสภาพคล่องเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านท่ามกลางภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งต้นทุนทางการเงินและต้นทุนราคาสินค้า รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายที่ยังคงมีต่อเนื่อง บทความฉบับนี้ได้นำเสนอการวิเคราะห์ปัจจัยที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยซึ่งมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในรอบก่อน เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 รวมถึงเพื่อประเมินความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
การท่องเที่ยวฟื้นตัวดันเศรษฐกิจไทยให้โตเร่งขึ้น
การท่องเที่ยวเติบโตชัดเจนและมีแนวโน้มดีกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวเร็วกว่าคาด นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้นถึงเดือนละ 2 ล้านคน ในช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ. 2566 เป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวชัดเจน โดยจำนวนเที่ยวบินเดือน ม.ค.-ก.พ. ฟื้นตัวมาสู่ระดับ 71.9% เมื่อเทียบกับปี 2562 เป็นผลจากเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวมาที่ระดับ 61.4% ของปี 2562 หรือขยายตัว 69% เทียบกับจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยในปี 2565 นอกจากนี้อัตราการเข้าพักแรมทั่วประเทศในเดือนม.ค. 2566 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับ 71.4% เมื่อเทียบกับความสามารถในการรองรับทั้งหมด ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนของภาคการท่องเที่ยวและเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ต่อเนื่อง
Krungthai COMPASS ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเข้าไทยมากถึง 27.1 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 22.5 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติที่ฟื้นตัวเร็วโดยเฉพาะยุโรปที่มีแนวโน้มฟื้นตัวไปถึงระดับ 80% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้เพียง 50% ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวจีนทยอยเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นจนกลายมาเป็น Top 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงต้นปี และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1.7% ของจีดีพี จากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อหัวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ภาคการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงด้านบวกที่อาจฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด (Best case) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเติบโตเร่งขึ้นเร็ว เนื่องมาจากความต้องการท่องเที่ยวของนักเดินทางที่ถูกอัดอั้นมานานถึง 3 ปี นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งมีโอกาสทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจเติบโตได้เร่งขึ้นกว่ากรณี Base case ที่ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเดินทางของจีนที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและมากกว่าคาด Krungthai COMPASS คาดว่าในกรณี Best case นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 อาจเพิ่มสูงถึง 29.6 ล้านคน และจะสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวมากถึง 1.4 ล้านล้านบาท
การส่งออกสินค้าหดตัว ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ
การส่งออกสินค้าของไทยหดตัวหนักในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มหดตัวต่อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยการหดตัวในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลงสะท้อนจากการส่งออกด้านปริมาณที่หดตัว โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และ อัญมณีและเครื่องประดับ ประกอบกับมาตรการ Zero-COVID ของจีนได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าบางประเภท เช่น เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น สำหรับการส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีทิศทางที่ปรับดีขึ้นบ้าง โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ม.ค. การส่งออกหดตัว -4.5%YoY น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ธ.ค. -14.6%YoY โดยสินค้าที่มีทิศทางดีขึ้น เช่น ยางพารา และเครื่องใช้ไฟฟ้า หลังจากการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ของจีน และอุปสงค์ของสินค้าบางชนิดกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวน้อยกว่าคาด สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลกที่ทยอยปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับเปราะบาง ขณะที่ สินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 7.2% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดกำลังเผชิญกับวัฏจักรขาลงทำให้หดตัวสูงถึง -21.2%YoY ในเดือน ม.ค. และมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่อง
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การส่งออกปีนี้มีแนวโน้มหดตัว -1.6%YoY จากอุปสงค์ของสินค้าในตลาดโลกที่ยังอ่อนแอโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
การส่งออกมีความเสี่ยงอาจหดตัวมากกว่าคาดจากความต้องการสินค้าเปลี่ยนไปสู่ภาคบริการมากขึ้นหลังจากยุคโควิด และเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าของไทยเคยเติบโตได้ดีในปี 2564 ส่วนหนึ่งจากอานิสงส์ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดทยอยคลี่คลาย ความต้องการสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานได้นานจึงเริ่มลดลงหลังจากมีการเร่งใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าหลายประเทศในเอเชียหดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยเฉพาะไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของโลกที่แสดงถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลงซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างน้อยครึ่งปี นอกจากนี้การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายประเทศยังได้ซ้ำเติมให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยในด้านสินค้าเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาคบริการมากขึ้น
ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงอาจชะลอตัวชัดเจนขึ้นท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยกดดันด้านการส่งออกสินค้าที่อาจหดตัวแรงในปีนี้ โดยความเสี่ยงเริ่มชัดเจนมากขึ้นสะท้อนจากการปิดตัวลงของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เช่น SVB ที่คาดว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน และอาจนำไปสู่อุปสงค์ต่อสินค้าที่ลดลง นอกจากนี้ วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าผ่านต้นทุนทางการเงิน เช่น สินเชื่อและค่าธรรมเนียมประกันการส่งออก (Letter of Credit) ซึ่งอาจปรับสูงขึ้น จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เปราะบางมากขึ้น ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่าในกรณีเลวร้าย (worse case) การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวสูงถึง -6%
อุปสงค์โลกที่แผ่วลงนอกจากจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าแล้วยังส่งผลกระทบต่อการลดระดับสินค้าคงคลังของผู้ผลิตลง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ผลิตตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 สอดคล้องกับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังที่หดตัว -6.1%YoY ในไตรมาสที่ 4/2565 และมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากผู้ผลิตจะยังคงระมัดระวังการผลิตและลดการสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปลงหากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของไทย ด้านสินค้าคงคลังในเดือนกุมภาพันธ์ที่ปรับลดลง
จับตาความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
1. ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาวิกฤตสถาบันเงินจากการปิดตัวลงของ ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่เน้นการรับฝากและปล่อยกู้แก่ start-up ขาดสภาพคล่อง หลังลูกค้าถอนเงินเพื่อใช้ในธุรกิจและลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ขณะที่ทางธนาคารไม่สามารถระดมเงินสดคืนผู้ฝากได้เพียงพอ เนื่องจากได้นำเงินฝากส่วนหนึ่งไปซื้อพันธบัตรระยะยาวซึ่งมีมูลค่าลดลงจากนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อของเฟด เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกและสั่นคลอนสถาบันการเงินอื่นได้แก่ First Republic Bank และ Signature Bank ส่งผลให้ทางการจำเป็นต้องปิดกิจการและช่วยคุ้มครองผู้ฝากเงิน รวมทั้งเข้ามาเสริมสภาพคล่องเพื่อปัองกันวิกฤตธนาคารล้มเป็นลูกโซ่ที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
อย่างไรก็ตาม วิกฤตสถาบันการเงินครั้งนี้ ก่อให้เกิดคำถามต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่สร้างผลข้างเคียงแก่ธนาคารบางแห่ง ซึ่งพันธบัตรที่ถือครองมีมูลค่าลดลงจากการขึ้นดอกเบี้ย เป็นที่คาดการณ์ว่า แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากปัญหาของธนาคาร SVB ต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจส่วนรวม อาจลดโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง พร้อมกับพยายามสร้างเสถียรภาพของระบบการเงินให้แข็งแกร่งเพื่อดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา โดยเฉพาะการสร้างสภาพคล่องที่มากเพียงพอต่อสถาบันการเงินเพื่อรับมือกับกระแสเงินฝากที่ไหลออก และบรรเทาภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน
จากการประชุมเฟดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps แตะระดับ 4.75-5.00% การตัดสินใจดังกล่าวสะท้อนว่าการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินอย่างทันท่วงทีในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีประสิทธิผล และไม่มีความจำเป็นที่เฟดจะต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ยตามที่บางฝ่ายเคยคาด ประมาณการอัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot plot) ยังชี้ถึงอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 5.1% เท่ากับตัวเลขเดิมในรอบที่แล้วเมื่อคราวประชุมเดือน ธ.ค. 2565 แสดงว่าเฟดเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สำหรับท่าทีของตลาดนั้น Bloomberg ได้ประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดด้วย Implied forward fed fund rate เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 คาดว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ค. สู่ระดับประมาณ 4.96% สะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) อาจแตะ 5.00-5.25% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าการประเมินเมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่เคยคาดว่าดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ 5.50-5.75% ตลาดยังมองว่า เฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยช่วงกลางปี โดยจะลดลงเหลือเพียง 4.18% ในเดือน ธ.ค. 2566 ขณะที่ Fed Watch Tool ของ CME Group ล่าสุด (ณ วันที่ 23 มี.ค. 2566) ชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 62.9% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยสูงสุดไว้ ณ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือน พ.ค. ก่อนเริ่มปรับลงในเดือน ก.ค. โดยคาดว่าเฟดจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงสู่ระดับ 4.00-4.25% ภายในสิ้นปี 2566
สำหรับมุมมองของ Krungthai COMPASS นั้น ประเมินว่า เฟดยังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก 1 ครั้ง โดยคาดว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 25 bps ในการประชุมเดือน พ.ค. 2566 นี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) แตะระดับ 5.00-5.25% และอาจจำเป็นต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงจนแน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวลงสู่กรอบเป้าหมาย รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จะสามารถยึดเหนี่ยวกับเป้าหมายเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เฟดมีท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินไปสู่แนวทางผ่อนคลาย (Dovish) มากขึ้น และจำเป็นต้องรักษาสมดุลในการดำเนินนโยบายมิให้นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่หนุนว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง จากสัญญาณภาวะเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายหลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.พ. 2566 ปรับตัวลงแตะระดับ 5.5% ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 ประกอบกับเครื่องชี้ด้านต้นทุนการผลิตและการใช้จ่ายที่แผ่วลง (ดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ. ลดลง 0.1% และ 0.4% MoM ตามลำดับ) นโยบายที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงดังกล่าวอาจช่วยป้องกันมิให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดิ่งลงแรง (Hard landing) เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยแรงอาจซ้ำเติมปัญหาในภาคการเงินที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน
แม้กระนั้น วิกฤตสถาบันการเงินในครั้งนี้ได้เพิ่มโอกาสของเศรษฐกิจสหรัฐฯในการเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินจะเพิ่มความระมัดระวังต่อปัญหาหนี้เสียและอาจทำให้อุปทานสินเชื่อตึงตัว ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อการใช้จ่ายและอุปสงค์รวม โดย Bloomberg รายงานว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในหลายช่วงอายุไถ่ถอนปรับตัวลงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนเป้าหมายของเฟดที่ 4.75% สะท้อนถึงมุมมองของตลาดที่กังวลต่อภาวะถดถอยและเชื่อว่าเฟดจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ทั้งนี้การเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอดีตที่ผ่านมา
วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ครั้งนี้ ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินในระดับโลก โดยเฉพาะ ธนาคาร Credit Suisse ที่ประสบปัญหาในการเพิ่มทุนเพื่อชดเชยการขาดทุน สร้างความวิตกกังวลว่าการลุกลามของปัญหาดังกล่าวจะซ้ำรอยวิกฤตการเงินโลกที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 หรือไม่ จากการประเมินของ Krungthai COMPASS คาดว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ยังมีโอกาสค่อนข้างจำกัดที่จะพัฒนาไปสู่วิกฤตที่รุนแรงดังกล่าว เนื่องจากจุดเริ่มต้นของปัญหาในครั้งนี้เกิดจากประเด็นด้านการขาดสภาพคล่องเป็นหลัก ขณะที่ปัญหาเมื่อปี 2551 นั้นเกิดจากปัญหาการขาดความสามารถในการชำระหนี้ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจริง ซึ่งนำไปสู่วิกฤตเชิงระบบ ประกอบกับฐานะทางการเงินของระนบธนาคารในประเทศหลักยังมีความแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของสหรัฐฯและยุโรปล่าสุดในปี 2565 อยู่ที่ 16.6% และ 16.3% ตามลำดับ สูงกว่าเกณฑ์ Basel III ซึ่งกำหนดไว้ที่ 4.5% อย่างไรก็ตาม วิกฤตสถาบันการเงินในครั้งนี้ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสร้างแรงกดดันต่อภาวะการเงินตึงตัวจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ ซึ่งจะกระทบการลงทุน และการใช้จ่าย อันจะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม
ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ สู่เศรษฐกิจไทย
ค่าเงินบาทโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินที่ผันผวนมากขึ้น การปิดตัวลงของธนาคาร SVB ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจแตะระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ประมาณ 5.00-5.25% ในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ประกอบกับปัจจัยด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเข้าไทยต่อเนื่องสนับสนุนให้ค่าเงินบาทปีนี้ยังมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางแข็งค่า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงของสหรัฐฯ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าเท่านั้น และคาดว่าไม่กระทบต่อสถาบันการเงินของไทยเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของไทย Krungthai COMPASS ยังคงมุมมองเดิมว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 2.0% ภายในกลางปีนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดว่ายังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% ไปถึงกลางปีนี้ และยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ สะท้อนจากระดับราคาสินค้าและบริการในเดือน ก.พ. ที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ราคาเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และราคาค่าห้องพักโรงแรมที่สูงขึ้น จึงอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 25bps ไปจนถึงระดับ 2.0% ในกลางปีนี้
2. จับตาการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางปี 2566 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งถือเป็นความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งการจัดการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังจากนั้น กกต. จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันหรือประมาณเดือน ก.ค. และคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะดำเนินการหลังการเปิดประชุมรัฐสภาภายในช่วงเดือน ส.ค. 2566 อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อาจล่าช้าออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผ่านร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ในวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท แยกเป็น งบรายจ่ายประจำ 2.49 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 7.17 แสนล้านบาท รายจ่ายอื่น (เช่น ชำระคืนเงินกู้) อีก 1.41 แสนล้านบาท แต่จำเป็นที่รัฐบาลใหม่จะต้องนำร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ได้เคยเกิดปัญหาลักษณะดังกล่าว โดยส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2563 เกิดขึ้นในประมาณไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด
Krungthai COMPASSS ประเมินว่า ปัญหาดังกล่าวกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นหลัก เนื่องจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง ขณะที่โครงการลงทุนสำคัญใหม่ๆ ตามร่าง พรบ.งบประมาณจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2567 ต้องล่าช้าออกไป โดยกระบวนการพิจารณาอนุมัติต่อรัฐสภาจะได้รับผลกระทบจากภาวะสุญญากาศที่ขาดรัฐบาลใหม่ รวมทั้งยังต้องใช้เวลากว่าที่ร่างกฎหมายจะผ่านสภา คาดว่าจะร่าง พรบ.งบประมาณ จะไม่สามารถออกได้ทันเงื่อนเวลาเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ในไตรมาสที่ 4/2566 (ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566 ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567) ความล่าช้าดังกล่าวจะส่งผลให้ยอดเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าปกติ คิดเป็นวงเงินประมาณ 5.73 หมื่นล้านบาท4 หรือเท่ากับ 0.3ppt. ของ GDP ซึ่งในภาพรวมถือเป็นปัจจัยลบต่อการลงทุนภาครัฐ
Krungthai COMPASS คาดจีดีพีปี 2566 ขยายตัว 3.4%
Krungthai COMPASS คาดเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3.4% จากภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 27.1 ล้านคน สูงกว่าประมาณการครั้งก่อนที่ 22.5 ล้านคน โดยคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทจากประมาณการรอบก่อน หรือประมาณ 1.7% ของจีดีพี ขณะที่ด้านการค้าโลกมีแนวโน้มแผ่วลงต่อเนื่องทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาจกลับไปหดตัวที่ -1.6%YoY เทียบกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.7%YoY และผู้ผลิตอาจคงสต๊อกสินค้าในระดับต่ำท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวมากถึง -1.0%YoY มากกว่าที่เคยคาดไว้จากความจำเป็นในการใช้จ่ายด้านโควิด-19 ที่ลดลง ปัจจัยดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจปีนี้ (Base case) ยังเติบโตได้ที่ 3.4% ใกล้เคียงเดิมกับที่เคยประเมินไว้ในครั้งก่อน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้านทั้งความเสี่ยงด้านบวกและความเสี่ยงด้านลบ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านบวก (Best case) คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าอาจเพิ่มสูงถึง 29.6 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากกรณี Base case ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.6ppt. ของจีดีพี ขณะที่ความเสี่ยงด้านลบที่อาจทำให้เศรษฐกิจแย่กว่าคาด (Worse case) คือ การค้าโลกที่อาจชะลอตัวกว่าคาด ประกอบกับวิกฤตสถาบันการเงินที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น การบริโภคและการลงทุนของประเทศคู่ค้าในตลาดโลก และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่อาจล่าช้าจากการเลือกตั้งในช่วงกลางปี โดยคาดว่าจะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากกรณี Base case ถึง -0.8ppt. และ -0.3ppt. ตามลำดับ
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon