มิติหุ้น – SCB CIO หนุนลูกค้าเวลธ์เปิดบัญชีเงินฝาก FCD พักเงินไว้ลงทุนสกุลดอลลาร์สหรัฐ แนะอาศัยจังหวะบาทแข็งแลกดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนตรงต่างประเทศพร้อมเสนอ 7 ผลิตภัณฑ์เด่น ให้เลือกลงทุนตามผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ชี้ช่องการลงทุนในตราสารหนี้ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในปีนี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งละ 0.25% จนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดอยู่ที่ 5.25 – 5.50% ตลอดปี 2566 และเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 ส่งผลให้ผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้คุณภาพดีในสหรัฐฯ มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี จากอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ผู้ลงทุนทั่วไป และกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (Ultra High Net Worth) ให้ความสนใจลงทุนในผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้ผู้ปลงทุนเพิ่มน้ำหนักลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น เช่น ตราสารหนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด ในเดือน ม.ค. 2566 พบว่า มีผู้ลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศผ่านตัวแทน มีมูลค่าประมาณ 1,226.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.96% จากเดือน ธ.ค. 2565 และเพิ่มขึ้น 58.65% จากเดือนเดียวกันของปี 2565 ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ผ่านกองทุนรวม มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 4,088.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.69% จากเดือน ธ.ค. 2565 และเพิ่มขึ้น 11.24% จากเดือนเดียวกันของปี 2565
นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับปี 2566 ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี ให้กับพอร์ตลงทุน นักลงทุนควรหาจังหวะ และโอกาสเข้าลงทุนในต่างประเทศด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า แนะนำให้แลกเงินดอลลาร์สหรัฐ เก็บไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) และหาจังหวะลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือหากรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ-ปานกลาง สามารถลงทุนในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้คุณภาพดีในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐฯ ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจ และหากรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ก็สามารถไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หรือลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ประเภทต่างๆ ได้
“ ข้อดีของการมีบัญชีเงินฝาก FCD คือ ผู้ลงทุนสามารถพักเงินดอลลาร์สหรัฐที่แลกไว้ในบัญชีนี้ เพื่อรอนำเงินไปลงทุนต่อในต่างประเทศโดยตรง และเมื่อได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมาในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ฝากไว้ในบัญชีเงินฝาก FCD เพื่อนำกลับไปลงทุนในต่างประเทศใหม่ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถรอจังหวะที่เหมาะสม เพื่อแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาท หรือรอนำเงินดอลลาร์สหรัฐที่เก็บไว้ ไปใช้ในต่างประเทศได้เลย” นายศรชัย กล่าว
ทั้งนี้ การลงทุนในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้คุณภาพดี ในต่างประเทศ ที่ลงทุนในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ SCB CIO แนะนำ 7 ผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ได้แก่ US Treasury ลงทุนโดยตรงในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้น, ETF US treasury ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ ที่ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (ช่วงอายุ 1-3 ปี), Capped Floored Floater ลงทุนในตราสารอนุพันธ์อ้างอิง ดอกเบี้ยลอยตัว, Fund link note ลงทุนในตราสารอนุพันธ์อ้างอิงผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ แบบรับประกันเงินต้น และ KIKO (Foreign Equity) ลงทุนในตราสารอนุพันธ์อ้างอิง ผลตอบแทนของหุ้นต่างประเทศแบบไม่รับประกันเงินต้น นอกจากนี้ ยังสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินบาทลงทุน โดยมีนโยบายไปลงทุนในต่างประเทศ และมีโอกาสรับผลตอบแทนเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ (SCBFST) และ Dual Currency Investment การลงทุนในตราสารอนุพันธ์อ้างอิงผลตอบแทนของหุ้นต่างประเทศ
ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในปีนี้ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งละ 0.25% จนถึงเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นคงไว้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดรอบนี้จะอยู่ที่ 5.25-5.50% ตลอดปี 2566 และเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในปี2567 ดังนั้น ทำให้ผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้คุณภาพดีในสหรัฐฯ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon