UOB สถานการณ์การสั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank และมาตรการการคุ้มครองผู้ฝากเงินของทางการสหรัฐฯ

155

มิติหุ้น – ธนาคาร Silicon Valley Bank (“ธนาคาร SVBก่อตั้งขึ้นในปี 2526 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซานตาคลารา ตั้งอยู่ตรงกลางของ Silicon Valley และเป็นธนาคารหลักของ บริษัทร่วมทุน (Venture Capital) และสตาร์ทอัพหลายแห่ง จากข้อมูลของ US Federal Deposit Insurance Corporation (“FDIC”)  ธนาคาร SVB มีสินทรัพย์รวม 209 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีเงินฝากในประเทศ 175.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ เดือนธันวาคม 2565 โดยธนาคาร SVB จัดอยู่ในลำดับที่ 16 ของธนาคารในสหรัฐฯ โดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม (ที่มา : Federal Reserve Statistical Release , 31 ธ.ค. 65)

จากประเด็นที่ เมื่อกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทาง FDIC ของสหรัฐฯ ได้เข้าควบคุมกิจการของธนาคาร SVB ซึ่งมีปัญหาในการบริหารสภาพคล่อง เนื่องจากฐานลูกค้าใหญ่อย่างกลุ่มบริษัท Startup หรือ Venture Capital เริ่มระดมทุนได้น้อยลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ระดับของเงินฝากเริ่มลดลงหรือเติบโตช้าลง นอกจากนี้ด้วยลักษณะของโครงสร้างในการบริหารสภาพคล่องที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) มากกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์  ในขณะเดียวกันมีสินเชื่อที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสาม (ที่มา งบการเงินธนาคาร SVB , 31 ธ.ค. 65)  ทำให้เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอ ธนาคารจึงจำเป็นต้องรับรู้การขาดทุนจากการเทขาย Treasury และ MBS ที่มีมูลค่าลดลงอย่างมากในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับของฐานทุนที่ลดลงจนต่ำกว่าระดับที่กำหนดและส่งผลให้ทาง FDIC เข้าควบคุมกิจการ

FDIC ได้เข้าควบคุมและดูแลสินทรัพย์ของธนาคาร SVB ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 อย่างไรก็ดีบลจ.ยูโอบี มองว่าปัญหาดังกล่าวจะยังคงอยู่ในวงจำกัด เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุจะพบว่าไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสินทรัพย์ แต่เกิดจากปัญหาในการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร SVB ที่มีลักษณะเฉพาะทั้งในเชิงฐานลูกค้าที่กระจุกตัวและโครงสร้างของการบริหารสภาพคล่องที่มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มากกว่าสินเชื่อ ทำให้เกิดความเสี่ยงด้าน Liquidity Mismatch ที่สูงกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ

ทั้งนี้ในส่วนของผู้ฝากเงินของธนาคาร SVB ยังคงได้รับการคุ้มครองเงินฝากในวงเงิน 250,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง  เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้ลุกลามจนเป็นปัญหาในเชิงระบบโดยมีการจัดตั้ง Bank Term Funding Program (BTFP) ที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบโดยผ่านการกู้ยืมโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หรือ MBS เป็นต้น

โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังอนุมัติเงินทุนกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากกองทุนเสถียรภาพ (Exchange Stabilization Fund: ESF) เพื่อเป็นสภาพคล่องเพิ่มเติมให้แก่กองทุน BTFP

เมื่อ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา First Citizens Bancshares บริษัทแม่ของ ธนาคาร First Citizens Bank ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคาร SVB จากทาง FDIC แล้ว โดยมีข้อตกลงครอบคลุมถึงเงินฝากและเงินกู้ทั้งหมดของธนาคาร SVB ทั้งนี้ผู้ฝากเงินของธนาคาร SVB จะกลายเป็นผู้ฝากเงินของ First-Citizens Bank & Trust Company โดยอัตโนมัติ และเงินฝากทั้งหมดใน First–Citizens Bank & Trust Company จะยังคงได้รับการประกันโดย FDIC ตามวงเงินค้ำประกัน (ที่มา : Website ธนาคาร SVB)

ผลกระทบและมุมมองต่อตลาดการลงทุ

เหตุการณ์การสั่งปิดธนาคาร SVB ดังกล่าว บลจ.ยูโอบี มองว่าเป็นเรื่องเฉพาะธนาคาร โดยสาเหตุหลักมาจากการขาดสภาพคล่อง ซึ่งทางการสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นเชิงระบบ และเป็นการจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยภาพรวมของระบบธนาคารยังคงมั่นคง โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ที่ยังคงมีสภาพคล่องและฐานทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีเสถียรภาพสูงเมื่อเทียบกับวิกฤตการเงินในปี 2551

ในส่วนของนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีความเป็นไปได้ที่อาจตึงตัวน้อยลง ทั้งนี้การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศบลจ.ยูโอบี ยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวังสำหรับการลงทุนในหุ้นจากโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง 

สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการลงทุนในประเทศ บลจ.ยูโอบี มองว่ามีจำกัด โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้นมีอัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไว้ในสัดส่วนที่สูงเพียงพอต่อการไถ่ถอนเงินจากประชาชน นอกจากนี้ในส่วนของการระดมเงินฝากจากประชาชนหรือการกู้ยืมเงินยังมีการกระจายโครงสร้างของเงินฝากและการกู้ยืม  ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อเป็นหลัก

ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นี้ ทาง บลจ.ยูโอบี มองว่าสินทรัพย์เสี่ยงจะยังคงมีความผันผวนสูง ถ้าความกังวลในเสถียรภาพสถาบันการเงินมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ก็ยังคงเป็นคําแนะนําหลักของเรา ประกอบกับระดับผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield) ที่ยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจรวมถึงโอกาสในการได้รับ Capital Gain จากแนวโน้มการดําเนินนโยบายทางการเงินที่ใกล้ถึงจุดเปลี่ยนและเข้มงวดน้อยลง โดยในมุมของเครดิตเรายังคงแนะนําให้เน้นลงทุนในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Gate (IG) และตราสารหนี้ของผู้ออกที่มี Leverage ที่ตํ่า  ส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเรายังคงมุมมองให้ลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยอาศัยจังหวะที่ตลาดปรับลดลง เราแนะนำให้นักลงทุนอาศัย จังหวะทยอยลงทุน (Buy on Dip) ในกองทุนที่มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มคุณภาพ (Quality Growth) และหุ้นกลุ่มที่เป็นธีม การลงทุนที่เป็น Secular Trend อย่าง EV, ESG, Clean Energy  ขณะเดียวกัน เราแนะนำให้เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้คุณภาพที่อายุคงเหลือไม่ยาวนักเพื่อป้องกันความผันผวนและลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวม

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะกองทุน นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กรณีกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ กองทุนนี้อาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon