KSAM พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกความต้องการ เน้นขยายฐานลูกค้าใหม่ควบคู่กับการพัฒนาระบบออนไลน์

45

มิติหุ้น – นางสุภาพร ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (บลจ.กรุงศรี) เปิดเผยว่า “สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2566 บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ 6 แสนล้านบาท พร้อมสานต่อแผนธุรกิจซึ่งขับเคลื่อนภายใต้ One Retail  ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างบริษัทในกลุ่มกรุงศรี มุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ลงทุน ให้ความสำคัญกับการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในวงกว้าง พร้อมเพิ่มตัวแทนจำหน่ายและการหาช่องทางการขายใหม่ๆที่มีศักยภาพ รวมทั้งการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้การลงทุนเป็นเรื่องง่ายและมอบประสบการณ์การลงทุนที่ดีให้กับลูกค้า”

“ในปี 2566 บริษัทได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดกรุงศรี The One (KF1MILD, KF1MEAN, KF1MAX) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถือเป็นกองทุนที่โดดเด่นด้วยการผสานจุดแข็งของกลุ่มกรุงศรีและพันธมิตรด้านการลงทุน เพื่อเป็นทางเลือกที่ตอบทุกเป้าหมายผลตอบแทนจากการคัดสรรกองทุนเด่นเข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุนของกรุงศรี The One เหมาะสำหรับการถือเป็นพอร์ตการลงทุนหลัก และจะมีการเสนอขายกองทุนใหม่ๆที่มีความน่าสนใจและเหมาะกับสภาวะตลาดเพิ่มเติม”

“ในส่วนของการให้บริการ บริษัทมีแผนการพัฒนาระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมให้กับผู้ลงทุน เช่น การจองงานสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ การเปิดบัญชีออนไลน์สำหรับลูกค้า IP การขายกองทุน RMFผ่านช่องทางออนไลน์ การผูกบัตรเครดิตและซื้อกองทุนแบบ real time รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการชำระเงินร่วมกับพันธมิตร เป็นต้น”

“สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ 5.4แสนล้านบาท และยังคงรักษาอันดับและส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคล (ข้อมูล : AIMC ณ 30 ธ.ค. 65)

“หากพิจารณาด้านผลการดำเนินงานกองทุนปี 2565 พบว่ากองทุนของ บลจ.กรุงศรี มีผลงานที่โดดเด่นครอบคลุมทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนต่างประเทศ* เช่น
กองทุนเปิดกรุงศรีลาตินอเมริกาอิควิตี้ (KF-LATAM) และกองทุนเปิดกรุงศรีอินเดียอิควิตี้ (KF-INDIA) สามารถสร้างผลผลตอบแทนอันดับ 1 และ 2 ของอุตสาหกรรมประเภทกองทุนหุ้น Emerging Market
กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเพิ่มทรัพย์ (KFSPLUS) เป็นกองทุนที่มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงสุดอันดับ 2 ของอุตสาหกรรม (ไม่รวมกองทุน Term fund)
กองทุนเปิดกรุงศรีเอ็นแฮนซ์แอคทีฟตราสารหนี้ (KFENFIX)  สามารถสร้างผลตอบแทนสูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมประเภทกองทุน Long Term General Bond
กองทุนเปิดกรุงศรีไทยสมอล-มิดแคปอิควิตี้ (KFTHAISM) สามารถสร้างผลตอบแทนสูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมประเภทกองทุนหุ้น Equity Small – Mid Cap
กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นไดนามิคเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFDNMRMF) สามารถสร้างผลตอบแทนสูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมประเภทกองทุน RMFที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น
กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวไดนามิค-ปันผล (KFLTFDNM-D) สามารถสร้างผลตอบแทนสูงเป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมประเภทกองทุน LTF” (ข้อมูล: Morningstar ณ 30 ธ.ค. 65)

*ข้อมูล : บลจ.กรุงศรี 30 มี.ค. 66 /ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

“นอกจากนี้ในปี 2565 บริษัทยังได้รับรางวัลจากสถาบันชั้นนำระดับสากล จำนวนรวมทั้งสิ้น 12 รางวัล** สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศักยภาพและความเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการกองทุนประกอบด้วย
รางวัล Most Trusted Financial Service Company จาก Bangkok Post Readers’ Choice Award 2021
รางวัล Asset Management Company of the Year Thailand (ได้รับเป็นปีที่ 4) รางวัล Pension Fund Manager of the Year Thailand (ได้รับเป็นปีที่ 2) และ รางวัล Most Innovative Investment Product (KFCMEGA) Thailand จากนิตยสาร Global Banking & Finance Review (UK)
รางวัล Best Bond Manager (ได้รับเป็นปีที่ 3) และรางวัล Best Equity Manager จากนิตยสาร Asia Asset Management Magazine (HK)
รางวัล Fund House of the Year, Thailand จากนิตยสาร Asian Investor (HK)
รางวัล Best Fixed Income House, Thailand (ได้รับเป็นปีที่ 2)จากนิตยสาร Fund Selector Asia (HK)
รางวัล Best Mutual Fund House –Thailand (ได้รับเป็นปีที่ 2) รางวัล Most Innovative Asset Management Products Initiative – Thailand (ได้รับเป็นปีที่ 2) สำหรับกองทุน KFFVPE-UI จากนิตยสาร International Finance (UK)
รางวัล Best Absolute Return Strategy 2022 จากนิตยสาร Alpha Southeast Asia (HK)
รางวัลกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตราสารหนี้ยอดเยี่ยม จากกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFCASHRMF)  จาก Money & Banking Awards 2022” นางสุภาพร กล่าว

**ข้อมูล: บลจ.กรุงศรี ณ 30 มี.ค. 66 / ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต การจัดอันดับดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดอันดับของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนแต่อย่างใด)

นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และภาคธนาคารมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะยังคงตัวอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่งและมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังจากผลของฐานสูงในปีที่แล้ว ตัวเลขที่แข็งแกร่งของตลาดแรงงานบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่าย และการบริโภคจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป รวมทั้งส่งผลดีต่อการเติบโตของภาคการผลิตเช่นกัน  นอกจากนี้ การเปิดประเทศของจีนเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และรัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง”

“ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เช่น การใช้จ่ายของผู้บริโภคและตลาดแรงงานของสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง การเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน  การชะลอตัวของเงินเฟ้อ  การคลี่คลายของปัญหาในภาคอุปทาน  การยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น  ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบอื่นๆจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก การกีดกันการค้า  ความผันผวนของค่าเงิน สงคราม เป็นต้น”

“บลจ.กรุงศรี ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นต่างประเทศที่ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับไม่แพง ขณะที่แรงกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมีแนวโน้มลดลงหลังจากเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง และโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐทำให้ภาคธนาคารพาณิชย์ทั้งในฝั่งสหรัฐและยุโรปมีสเถียรภาพมากยิ่งขึ้น และส่งผลบวกต่อหุ้นโดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี  สำหรับการลงทุนในตลาดประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะฝั่งเอเชียที่เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นนั้นมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว  เนื่องจากสหรัฐและยุโรปยังมีความผันผวนสูงจากภาคธนาคารพาณิชย์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB และ FED ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดอยู่”

“นอกจากนี้ยังมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อตราสารหนี้ต่างประเทศ โดยธนาคารกลางสหรัฐเข้าใกล้การยุติการขึ้นดอกเบี้ยและอาจจะกลับมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า (2567) อย่างไรก็ตาม ความเห็นของนักลงทุนบางส่วนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจำเป็นต้องเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้เป็นต้นไป เนื่องจากความตึงเครียดในภาคสถาบันการเงิน ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะช่วยหนุนผลตอบแทนของตราสารหนี้ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่างประเทศ ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับน่าดึงดูดใจ (ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 US Investment grade corporate bond index ให้ Yield to maturity อยู่ที่ราว 5.45% ต่อปี)”

“ด้านเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าที่คาดจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นตามภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 2566 คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับอย่างน้อย 1.75%-2.00% ในปี 2566 ขึ้นกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย”

“การลงทุนหุ้นไทยในระยะสั้นจะยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศ จนกว่านักลงทุนจะคลายความกังวลต่อวิกฤติการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ส่วนในระยะกลางและระยะยาวตลาดหุ้นไทยจะตอบรับปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ได้รับประโยชน์ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการเลือกตั้งทั่วไป  สำหรับแนวโน้มของดัชนี SET Index ยังคงขึ้นอยู่กับบรรยากาศการลงทุนโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าปัญหาของภาคธนาคารในประเทศตะวันตกจะไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินไทยก็ตาม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดไทยกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้”

“ตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2566 ยังคงมีความผันผวนของผลตอบแทนในช่วงดอกเบี้ยไทยเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับขอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธปท.กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3.00 ทั้งนี้ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนจะช่วยลดความผันผวนของตลาดได้  และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านอายุคงเหลือเฉลี่ยกองทุนเชิงรุกจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเพิ่มในกับกองทุนได้จากความผันผวนของตลาดตลอดทั้งปี”

“ธีมการลงทุนที่น่าสนใจในปี2566 ได้แก่ การลงทุนในหุ้นจีนเนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง และตลาดหุ้นจีนมักไม่เคลื่อนไหวไปตามการปรับตัวของตลาดหุ้นอื่นๆ  และการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงที่มีแบรนด์แข็งแกร่งเนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตของรายได้และกำไรที่สมํ่าเสมอ ซึ่งมีความเหมาะสมในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูง  รวมทั้งการลงทุนในกลุ่มพลังงานสะอาดซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐทั่วโลก นอกจากนี้ นโยบายการเงินที่กลับทิศ (Policy U-turn) ซึ่งรวมถึงการหยุดขึ้นดอกเบี้ยและความน่าจะเป็นที่สูงขึ้นในการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มส่งผลให้หุ้นเติบโตและหุ้นเทคโนโลยีกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากที่เผชิญแรงกดดันจากอัตราคิดลด (Discount rate) และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมา จนปรับตัวลดลงมาซื้อขายในระดับไม่แพง อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงหลักในปี 2566 ได้แก่ ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจากการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมาเป็นระยะเวลานาน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน และการชะลอตัวของภาคการบริโภค” นายศิระกล่าว

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon