ไข้หวัดใหญ่ โรคหวัดที่ต้องระวัง

312

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในประเทศไทย พบได้ตลอดปีเกิดการระบาดมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ผู้ป่วยที่เคยป่วยไข้หวัดใหญ่แล้วยังสามารถป่วยซ้ำได้อีกและยังพบในทุกช่วงวัยซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป

โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A

วิธีการติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อ ผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก

อาการ

อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้แบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ (post viral bronchitis) อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

ผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต

ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี

ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

เด็กที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอสไพรินเป็นเวลานาน

หญิงตั้งครรภ์ระยะที่ 2 หรือ 3 ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่สูง

การรักษาไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนและให้นอนพักผ่อน ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัส โอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรงอื่น อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด

ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น

หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

สวมหน้ากากอนามัยปิดปาก/จมูก ไม่พยายามเอามือขยี้ตาแคะจมูกหรือเอามือเข้าปาก

เมื่อมีอาการป่วย ควรหยุดเรียน หยุดทำงาน หยุดกิจกรรมกลุ่ม และพักรักษาตัว

ถึงแม้ไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรง และส่งผลต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่ถ้าเรารู้เท่าทันและป้องกันตัวเอง ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป ยิ่งช่วงหน้าฝนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง การป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และฉีดสม่ำเสมอทุกปี

ขอบคุณที่มา : กรมอนามัย, กรมควบคุมโรค

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon