KKP แนะ 5 แนวทาง เสริมภูมิการท่องเที่ยวไทย ป้องกันเศรษฐกิจติดอาการ Long-Covid

127

มิติหุ้น – KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ชี้ว่าแม้ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวจากโควิดได้ค่อนข้างดีที่ในปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปีนี้ แต่ตัวเลขการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้นและเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ อาจบดบังปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวไทยที่มีมาตั้งแต่ก่อนโควิด โดยในช่วงที่ผ่านมาในปี 2022 นักท่องเที่ยวกลับมาได้ 11.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 28ของปี 2019 แต่โครงสร้างนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังไม่มีนักท่องเที่ยวจีน ทำให้รายได้ต่อหัวลดลง ขณะที่ในปี 2023 คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 29.7 ล้านคน (74.5% ของปี 2019) จากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน   อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้าภาคท่องเที่ยวอาจไม่สามารถเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยไปได้ตลอด จำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นความท้าทายในการเติบโตระยะยาว ควบคู่กับการหาเครื่องยนต์เสริมตัวใหม่ให้กับเศรษฐกิจ 

KKP Research ประเมินว่าภาคท่องเที่ยวไทยในระยะยาวมีข้อจำกัดที่อาจเรียกว่าเป็น Long-COVID ที่อาจแสดงอาการออกมาเรื่อย ๆ และจำเป็นต้องได้รับการดูแล หากต้องการสร้างให้ภาคการท่องเที่ยวก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ข้อจำกัดดังกล่าว ได้แก่

  1. ภาคการท่องเที่ยวไทยเน้นปริมาณมากกว่ามูลค่าเพิ่ม  แม้ว่ารายได้จากภาคท่องเที่ยวไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 10-15%  แต่ 80 – 90% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นแต่ละปีเกิดจากการเพิ่ม “จำนวนนักท่องเที่ยว” ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่เพิ่มขึ้นและปรับลดลงในช่วงปี 2018 -2019  กลยุทธ์การเติบโตที่เน้นปริมาณจะไม่ยั่งยืนเพราะการท่องเที่ยวมีข้อจำกัดในการขยายขนาดธุรกิจ (Scalability) ซึ่งเกิดจากทั้งอุปสงค์ที่เติบโตช้าลง และข้อจำกัดด้านพื้นที่และสาธารณูปโภคในการรองรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ต่ำโดยมีมูลค่าเพิ่มทางอ้อมที่ส่งผลต่อบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีมูลค่าเพียง 10% – 25% เทียบกับในยุโรปที่สูงถึง 30% – 40%
  2. การท่องเที่ยวไทยที่ผ่านมาไม่ได้ส่งเสริมการยกระดับผลิตภาพของประเทศโดยรวม เนื่องจากภาคท่องเที่ยวในภาพรวมแล้วเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำกว่าภาคการผลิตและภาคบริการอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อภาคท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาจนดึงดูดทรัพยากรของประเทศ ทั้งแรงงาน เงินทุน จนเกิดปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยเฉพาะในธุรกิจที่พักขนาดเล็กที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา จนเกิดการแข่งขันกันสูง และนำไปสู่อัตราหนี้เสียที่สูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการทุ่มเททรัพยากรไปยังภาคการท่องเที่ยวมากจนเกินไป ยังทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีผลิตภาพสูงกว่าเสียโอกาสในการพัฒนาขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนของประเทศ
  3. รายได้จากการท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวสูงมาก โดยรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาทในแต่ละปีกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น โดยช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 จังหวัดท่องเที่ยว 4 จังหวัดแรกที่ได้รายได้ท่องเที่ยวสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี ได้รับรายได้รวมกันมากกว่า 80% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันเพียง 2 จังหวัดแรกที่ได้รายได้ท่องเที่ยวมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ และภูเก็ต มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 80% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2022 นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในภาพรวมของการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย
  4. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมไม่อยู่ในสมการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความแออัดในชุมชนและเส้นทางคมนาคม จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวมากเกินไป (Overtourism) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน ทรัพยากรน้ำ การสร้างขยะและมลพิษด้านต่างๆ จากการท่องเที่ยว รวมถึงความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติจากการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการท่องเที่ยวและปล่อยขยะและของเสียลงสู่ทะเลมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก  ทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกนำมาคิดคำนวณในภาพความสำเร็จของการท่องเที่ยวไทย และหากปล่อยให้สภาพแวดล้อมถูกทำลายไปเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายก็จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้
  5. การพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก การพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสร้างความเปราะบางหลายมิติให้กับเศรษฐกิจไทยทั้งจาก (1) การพึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะถูกกระทบหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่กระทบเศรษฐกิจโลก ตัวอย่างเช่น การระบาดของโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง (2) การพึ่งพานักท่องเที่ยวบางกลุ่มในสัดส่วนสูง เช่น จีน ทำให้ทิศทางการท่องเที่ยวไทยขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของบางประเทศและความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

    ทำอย่างไรให้ท่องเที่ยวไทยไปได้ไกลกว่าเดิม 
    แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะยังเจอกับความท้าทายหลายอย่าง แต่ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพหากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จากทั้ง โอกาสในการเติบโต ความเชื่อมโยงกับมูลค่าเพิ่มในประเทศที่สูง สร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก มีสัดส่วนการจ้างงานสูง และเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ โดย KKP Research ประเมินว่า แนวทางสำคัญที่จะช่วยต่อยอดการท่องเที่ยวจากปัจจุบันได้ คือ 

  1. เพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตภาพในภาคการท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาทักษะแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล
  2. สานต่อห่วงโซ่อุปทาน เพื่อนำไปสู่ผลคูณทวีต่อระบบเศรษฐกิจ (multiplier effects) ที่สูงขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อกับภาคเศรษฐกิจอื่นให้มากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ภาคการเกษตร
  3. ลดการกระจุก สร้างแรงดึงดูดให้การท่องเที่ยวกระจายออกจากจังหวัดท่องเที่ยวหลักมากขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยให้การเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ
  4. ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล การมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน การสร้างความตระหนักรู้ให้กับทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว มีมาตรฐานกฎเกณฑ์รวมถึงการสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบาย
  5. พัฒนาศักยภาพของประเทศด้านอื่นด้วย จากข้อมูลจะพบว่าประเทศอื่นที่ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการพัฒนาศักยภาพในด้านอื่น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น ถึงแม้ไทยจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวที่สมดุลได้ตามแนวทางข้างต้นแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของประเทศในด้านอื่นควบคู่ไปด้วย หากจะนำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างแท้จริง

การพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ ในภาคการท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มทั้งมูลค่าและความยั่งยืนในการเติบโตระยะยาว โดยหากไทยสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทย พร้อมกับเชื่อมโยงการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ KKP Research ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตได้อีกกว่า 4.6% ของ GDP หรือคิดเทียบเท่าจำนวนนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าด้วย 

การเติบโตที่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างที่ผ่านมาไม่ควรจะเป็นคำตอบสุดท้ายของเป้าหมายความสำเร็จของภาคการท่องเที่ยว กลยุทธ์การเติบโตที่ยั่งยืนจะเป็นต้องสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและสมดุล ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นกับคนในประเทศให้ได้มากที่สุด จึงจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon