มิติหุ้น – นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ในวันที่ 19 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายปันผลงวดประจำปี 2565 ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด 0.183 บาท/หุ้น โดยวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date)ในวันที่ 28 เมษายน 2566 วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 27 เมษายน 2566 และกำหนดวันที่จ่ายปันผลวันที่ 18 พฤษภาคม 2566
“ต้องขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่ให้ความเชื่อมั่นในการบริหารธุรกิจ ซึ่งในปีนี้ บริษัทฯ มีแผนงานในการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ ทั้งประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลและขยะ ล่าสุดมีการ COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา กำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังคงเดินหน้าเตรียม COD โรงไฟฟ้า ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่ม อีก 1 แห่ง พร้อมกันนี้ มีการลงทุนขยายธุรกิจพลังงานทดแทนไปในต่างประเทศ ทั้งใน สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา คาดว่า จะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้ 1 โครงการ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว และสร้างความมั่นคงให้กับบริษัทฯ” นางกนกทิพย์กล่าว
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา (PBB) สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2.85 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่งผลให้ปัจจุบัน TPCH มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 119.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 116.3 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP)
ส่วนโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน กำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ ขณะนี้ อยู่ในช่วงทดสอบระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการจําหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 2/66
นอกจากนี้ TPCH อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 5-7 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่ง TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ ประมาณ 1-2 โครงการ โดยเป็นโครงการรูปแบบ VSPP ทั้งหมด
สำหรับการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนไปในต่างประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เวียดนาม และกัมพูชา โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนสำหรับโครงการแรกในรูปแบบ IPP เร็วๆ นี้ จำนวน 1 โครงการ
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 115 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 50 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลมในต่างประเทศ 135 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/@mitihoon