Happy Anniversary 48 ปี ตลาดหลักทรัพย์บทพิสูจน์ผลงานผู้นำ

443

มิติหุ้น- วันที่ 30 เม.ย. 66  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET  อายุครบรอบ 48 ปี ก้าวย่างสู่ปีที่ 49 หากเปรียบกับช่วงชีวิตของคน เทียบได้กับหนุ่มใหญ่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ไฟลุกโชนพร้อมทำงาน

แต่ SET ไม่ได้ให้อารมณ์นั้น กลับสัมผัสได้ถึงความโรยรา ย่ำอยู่กับที่ และความหงำเหงือก

เหตุที่เป็นเช่นนั้น… เพราะ SET ขาดการพัฒนา ขาดการเติมเต็มในสิ่งใหม่ นับวันมีแต่ถดถอย สวนทางตลาดหุ้นเพื่อนบ้านอย่างเช่น อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ เวียดนาม ระดับการพัฒนาแทบหายใจรดต้นคอSET อยู่แล้ว

ทุกวันนี้ SET เรียกได้ว่ากินบุญเก่า ที่อดีตผู้จัดการตลาด SET รุ่นก่อนๆ ปูทางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิด TFEX ซึ่งถือกำเนิดในยุคของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง”   การผุดสินค้าใหม่ ๆ เช่น กองREIT   DW  ในระยะต่อมา   หรือแม้แต่ขยายท่อซื้อขายในยุคของ “จรัมพร โชติกเสถียร” ทำให้ SET สามารถรองรับวอลุ่มการซื้อขายได้มากถึง 1 แสนลบ. ต่อวัน เพิ่มสปีดแบบหลายเท่าตัว จากเดิมระดับ 1-2 หมื่นลบ. แทบจะเต็มกำลังแล้ว

แม้แต่ยุคของ “เกศรา มัญชุศรี” ยังได้รับการยอมรับจากโบรกเกอร์ว่า “รับฟังความคิดเห็น”  ลงมาคลุกกับปัญหา
ต่างจากยุคนี้ … SET แทบจะหลุดออกนอกวงโคจร เพราะบริหารอยู่บนหอคอยงาช้าง

มาดูว่าคนในวงการให้คะแนนเอ็มดีกันเท่าไหร่
อดีตผู้บริหาร SET กล่าวว่า สมัยก่อนการทำงานของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์จะเป็นในลักษณะ “ตรงไปตรงมา” ทำงานอย่างเดียว แต่คนรุ่นนี้เลือกใช้อำนาจ จน “ลุแก่อำนาจ”

ทั้งที่ความเป็นจริงธุรกิจของ SET คือ ธุรกิจผูกขาด เป็นเสือนอนกิน ทำให้ผู้บริหารไม่ต้องกังวลเรื่องผลกำไร คนรุ่นเก่าปูทางทำให้หาเลี้ยงตัวเองได้อยู่แล้ว ดังนั้นไม่อยากให้การบริหารงานของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ในยุคนี้คำนึงในเชิงธุรกิจมากเกินไป เพราะตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่องค์กรธุรกิจเช่นองค์กรอื่นทั่วไป

“หากจะให้คะแนน คงเป็นเกรด “C” เพราะอย่างที่กล่าวไป เรื่องผลดำเนินงานไม่ควรนำมาวัดเป็นผลงาน ด้วยความที่ SET เป็นธุรกิจผูกขาดอยู่แล้ว แต่ควรวัดเรื่องการบริหารงานด้านบุคคลากร ซึ่งเห็นแล้วว่าใช้อำนาจในการบริหาร  และอีกเหตุผลคือการเข้าถึงยาก ต่างจากผู้จัดการSET ในยุคก่อน ๆ”

เอ็มดีเกรด “C ต่ำกว่า Investment Grade
ผู้บริหารโบรกเกอร์อีกราย กล่าวว่า ให้คะแนนที่ระดับ “C” ต่ำกว่า Investment Grade สาเหตุเป็นเพราะปล่อยปละละเลยทำให้ฐานผู้ลงทุนหดตัว โดยเฉพาะรายย่อย จากที่เคยสูงถึง 70% ขณะนี้เหลือ 30% จำนวนผู้ลงทุนที่เคยแอคทีพกลับหดหาย อัตราการเติบโตของตลาดหุ้นถดถอย แม้แต่คุณภาพหุ้น IPO เป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน

ขณะที่วอลุ่มการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยหดตัวลงโดยตลอด สวนทางตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดหุ้นเพื่อนบ้านขึ้นมาค่อนข้างแรง จนบางครั้งแซงตลาดหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และเวียดนาม
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง MORE หรือแม้แต่ STARK ไม่สามารถจัดการได้ สร้างความเสียหายให้รายย่อย ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะให้คะแนนเกินกว่าระดับ C ไปได้อย่างไร

 

ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

Web : https://www.mitihoon.com/

Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon

Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770

Tiktok : www.tiktok.com/