ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงกว่า 2-3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนักลงทุนกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจถดถอย ขณะที่ภาคการเงินและธนาคารยังไร้เสถียรภาพ ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ยังมีแนวโน้มเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 2-3 พ.ค. 66 อีก 0.25% เป็น 5.00-5.25% ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 10 ครั้ง ตั้งแต่ มี.ค. 65
คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ $75-85/BBL โดยได้รับแรงกดดันช่วงก่อน Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า กดดันอุปสงค์น้ำมันโลก ประกอบกับเศรษฐกิจจีนส่งสัญญานชะลอตัว ทั้งนี้ตลาดให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยคาดว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของ อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 66 นี้
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- 27 เม.ย. 66 หลังลูกค้าแห่ถอนเงินฝากจาก First Republic Bank (FRB) ธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของประเทศ ทำให้ราคาหุ้นปิดตลาดร่วงลง 49% อยู่ที่ 6.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหุ้น โดยลดลง 61% จากวันที่ 24 เม.ย. 66
- Conference Board รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index) ในเดือน เม.ย. 66 ลดลง 2.7 จุด MoM อยู่ที่ 101.3 จุด ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
- สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Manager’s Index: PMI) ในเดือน เม.ย. 66 ลดลง 2.7 จุด MoM อยู่ที่ 49.2 จุด ลดลงครั้งแรกตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ ในสัปดาห์สิ้นสุด 21 เม.ย. 66 ลดลง 1 MMB WoW อยู่ที่ 460.9 MMB ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
- สงครามกลางเมืองในซูดานระหว่างกองทัพรัฐบาล กับกองกำลัง Rapid Support Forces (RSF) เพื่อชิงอำนาจบริหารประเทศ ทวีความรุนแรง อาจกระทบการผลิตน้ำมันดิบของซูดานและซูดานใต้รวม 200 KBD และการส่งออกจาก Port Sudan ทางชายฝั่งทะเลแดง
ติดตามช่องทางมิติหุ้นเพื่อรับข่าวสารตลาดทุนได้ตามลิงค์ด้านล่าง
Web : https://www.mitihoon.com/
Facebook : https://www.facebook.com/mitihoon
Youtube : https://www.youtube.com/@mitihoonofficial7770
Tiktok : www.tiktok.com/